posttoday

เลิก"ค่าฟี"สะเทือนกำไรแบงก์

16 กรกฎาคม 2561

นักวิเคราะห์ประเมินผลประกอบการแบงก์ไตรมาส 2 หดตัวจากค่าฟี แต่แรงกดดันสำรองเบาลง

นักวิเคราะห์ประเมินผลประกอบการแบงก์ไตรมาส 2 หดตัวจากค่าฟี แต่แรงกดดันสำรองเบาลง

น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ทิศทางผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ที่จะทยอยประกาศออกมาในสัปดาห์นี้ ต้องติดตามธนาคารใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงก์กิ้งเป็นศูนย์ แม้ว่าจะพยายามเร่งค่าธรรมเนียมอื่นมาชดเชย เช่น การขายประกันและกองทุนรวม แต่ผลประกอบการเทียบกับไตรมาสแรกลดลงชัดเจน

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญผ่อนคลายลง จากการจะเลื่อนใช้ IFRS9 จากเดิมเริ่มในปี 2562 เป็นผลบวกในปีนี้ที่ธนาคารไม่ต้องเร่งสำรองให้ทันกำหนด ขณะเดียวกันแนวโน้มสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เริ่มนิ่ง ลดภาระตั้งสำรองตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป

“ถึง IFRS9 เลื่อนไป แต่สำรองอาจไม่ได้ลงมามาก สังเกตจากเมื่อก่อนต่ำกว่า 1% ตอนนี้ 1.25% ต่อไปอาจเหลือ 1.1-1.2% ก็ยังสูง ส่วนเกินตรงนั้นไว้รองรับ IFRS นั่นเอง ปัจจุบันสำรองของระบบธนาคารสูงถึง 170%” น.ส.ธัญญลักษณ์ กล่าว

น.ส.ธัญญลักษณ์ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีทำให้สินเชื่อรวมกลับมาขยายตัว รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์บริหารต้นทุนการเงินได้ดีเมื่อรวมกับต้นทุนปล่อยสินเชื่อ (Credit Cost) ที่ลดลงตามสำรอง ภาพรวมของรายได้ดอกเบี้ยน่าจะรักษาระดับไว้ได้

สำหรับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารยังไม่ปรับมาก เพราะสภาพคล่องในระบบยังสูง ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเร่งระดมทุน ส่วนฝั่งดอกเบี้ยเงินกู้ก็ขึ้นยากจากการแข่งขันสูงทั้งกับสถาบันการเงิน เทเลคอม ค้าปลีก แคปทีฟ และแพลตฟอร์มต่างประเทศที่เข้ามาในตลาดไทย