posttoday

ปรับแผนหนี้สาธารณะเพิ่ม

04 กรกฎาคม 2561

ครม.อนุมัติปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2561 รอบ 2 ทำให้มีหนี้ประเทศเพิ่ม 8,774 ล้าน พร้อมไฟเขียวปรับโครงสร้างหนี้ตั๋วเงินคลัง

ครม.อนุมัติปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2561 รอบ 2 ทำให้มีหนี้ประเทศเพิ่ม 8,774 ล้าน พร้อมไฟเขียวปรับโครงสร้างหนี้ตั๋วเงินคลัง

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2561 อนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2561 ครั้งที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งวงเงินปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 8,774.83 ล้านบาท จากเดิม 1,760,174.04 ล้านบาท เป็น 1,768,921.87 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากแผนการก่อหนี้ใหม่ และแผนบริหารหนี้เดิมของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจลดลง 4,249.25 ล้านบาท จากเดิม 1,588,883 ล้านบาท เป็น 1,584,634.23 ล้านบาท และแผนการบริหารหนี้ของ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นที่ไม่ต้องขออนุมัติจาก ครม.เพิ่มขึ้น 13,024.08 ล้านบาท จากเดิม 171,263.56 ล้านบาท เป็น 184,287.64 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ครม.ยังได้อนุมัติแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ตั๋วเงินคลังวงเงิน 8 หมื่นล้านบาท ให้เป็นหนี้ระยะยาว สืบเนื่องจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2558 ที่ได้อนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ โดยการเพิ่มวงเงินตั๋วเงินคลัง 8 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้บริหารดุลเงินสดของรัฐบาล เมื่อฐานะการคลังของรัฐบาล มีดุลเงินสดเกินดุลอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากตั้งแต่ปี 2550 จนปัจจุบันฐานะการคลังของรัฐบาลยังคงขาดดุลงบประมาณ ประกอบกับยังคงขนาดดุลเงินสด จึงยังไม่สามารถบริหารจัดการเพื่อลดยอดตั๋วเงินคลังดังกล่าวได้ และยังคงใช้ตั๋วเงินคลังวงเงิน 8 หมื่นล้านบาท สำหรับการบริหารดุลเงินสดของรัฐบาลตลอดมา

อย่างไรก็ตาม ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ. บริหารหนี้สาธารณะ ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อบริหารสภาพคล่อง ของเงินคงคลัง โดยออกตั๋วเงินคลังอายุไม่เกิน 120 วัน เมื่อมีความจำเป็นใน การรักษาสภาพคล่องทางการคลังภายใต้ วงเงินไม่กิน 3% ของงบประมาณประจำปี ปัจจุบันกระทรวงการคลังเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินตั๋วเงินคลัง 8 หมื่นล้านบาท เพื่อบริหารสภาพคล่องอีกต่อไป จึงเห็นควรให้ปรับโครงสร้างหนี้ในวงเงิน ดังกล่าวให้เป็นตราสารหนี้ระยะยาวตามความเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลต่อการบริหารหนี้ในระยะยาวให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดภาระการคลังโดยเฉพาะการชำระดอกเบี้ย

นายณัฐพร กล่าวว่า การปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะในครั้งนี้ จะ ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในปี 2561 อยู่ที่ 42.60% สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ 2561 อยู่ที่ 19.60% ส่วนในช่วง 10 ปีนี้จะอยู่ที่ 42.1-47.8% ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดให้หนี้สาธารณะต้องอยู่ในระดับไม่เกิน 60% ของจีดีพี