posttoday

ธกส.หวั่นหนี้เสีย3หมื่นล้าน

03 กรกฎาคม 2561

ธ.ก.ส. เร่งปรับโครงสร้างหนี้ช่วยชาวสวนด่วน หลังสับปะรด กล้วย มะนาว ราคาตก หวั่นหนี้เสียพุ่ง 3 หมื่นล้าน มั่นใจเบรกได้ 1.8 หมื่นล้าน

ธ.ก.ส. เร่งปรับโครงสร้างหนี้ช่วยชาวสวนด่วน หลังสับปะรด กล้วย มะนาว ราคาตก หวั่นหนี้เสียพุ่ง 3 หมื่นล้าน มั่นใจเบรกได้ 1.8 หมื่นล้าน

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีลูกค้าเกษตรกรของธนาคารที่ประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและมีการค้างชำระหนี้มากกว่า 0-3 เดือน มากกว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นลูกค้าชาวสวนชาวไร่ผลไม้มากสุด โดยเฉพาะสับปะรด เช่น ลำปาง เชียงใหม่ ประสบปัญหาราคาตกต่ำจากปีที่แล้วมาก รองลงมา ได้แก่ ชาวสวนมะนาวและกล้วย รวมถึงมังคุดในภาคตะวันออก แม้ราคาดีแต่ผลผลิตออกมาน้อยทำให้มีปัญหาการผ่อนชำระค่างวด

ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายเร่งด่วนถึงสาขา ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ ให้เข้าไปช่วยดูแลปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกรกลุ่มนี้อย่างเร่งด่วน เพราะหากไม่มีการดูแลจนค้างผ่อนชำระเกิน 3 เดือน ลูกค้ากลุ่มนี้จะกลายเป็นหนี้เสียทันที และทำให้ธนาคารมียอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มเป็นก้าวกระโดดจาก 4.29% ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2561 เพิ่มเป็น 6% ได้ หากไม่เร่งช่วยลูกหนี้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อทั้งลูกค้าและเป็นภาระธนาคารให้มีการตั้งสำรองสูงขึ้น หากมีเกษตรกรประสบปัญหาก็เข้ามาติดต่อที่สาขาธนาคารได้

"การช่วยเหลือของธนาคารจะเน้นการปรับโครงสร้างหนี้ให้ เช่น ขยายเวลาชำระหนี้ ปรับตารางชำระดอกเบี้ยใหม่ หรืออาจให้ชำระแต่ดอกเบี้ยไปก่อน เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มีความตั้งใจในการชำระหนี้แต่อาจมีเงินผ่อนส่งไม่ถึงเกณฑ์จึงต้องช่วยเหลือ คาดว่าเมื่อปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้กลุ่มนี้แล้วจะช่วยยับยั้งการเป็นหนี้เสียได้ถึง 60% หรือคิดเป็นวงเงินกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือ 1.2 หมื่นล้านบาท จะไหลเข้ามาสู่กลุ่มหนี้เสีย แต่เมื่อผสมกับการแก้หนี้เสียก้อนเก่าช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.ที่ลดลงไป 1 หมื่นกว่าล้านบาท จะทำให้ภาพรวมเอ็นพีแอลของ ธ.ก.ส. ในไตรมาสแรกปีบัญชี (เม.ย.-มิ.ย.) ยังทรงตัวระดับเดิมใกล้เคียงกับยอดสิ้นปีบัญชี 4%" นายอภิรมย์ กล่าว

นายอภิรมย์ กล่าวว่า ส่วนยอดเงินฝากในช่วงปีบัญชีไตรมาสแรกมีเงินฝากสุทธิเข้ามา 7,832 ล้านบาท เป็นไปตามคาด เนื่องจากโดยปกติไตรมาสแรกจะมีเงินฝากเข้ามาน้อย เนื่องจากเป็นช่วงที่เกษตรกรมีภาระรายจ่ายเยอะ ทั้งค่าเทอม ค่าการศึกษาบุตรหลาน ค่าใช้จ่ายลงทุนเพาะปลูก แต่ในไตรมาส 2 ช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.ยอดเงินฝากจะเพิ่มขึ้นเร็วได้ เพราะมีลูกค้าเงินฝากจากภาครัฐเข้ามา รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรจะเริ่มเก็บเกี่ยวและขายได้ ทำให้ในสิ้นปีนี้ภาพรวมของเงินฝากสุทธิจะเพิ่มได้ตามเป้าหมาย 5.75 หมื่นล้านบาท

สำหรับในส่วนการปล่อยสินเชื่อยังคงทำได้ตามเป้าหมาย โดยในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2561 สามารถปล่อยกู้ใหม่ไปได้แล้วกว่า 9 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปี 7.5 แสนล้านบาท และคาดว่าในปีนี้จะยังคงทำได้ตามเป้าหมาย