posttoday

21 ปี ย้อนรอย (หรือซ้ำรอย) วิกฤตต้มยำกุ้ง

02 กรกฎาคม 2561

วิเคราะห์ 5 เหตุผลที่ทำให้ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันจากวิกฤตเศรษฐกิจและไม่ซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้ง

วิเคราะห์ 5 เหตุผลที่ทำให้ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันจากวิกฤตเศรษฐกิจและไม่ซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้ง

****************************

โดย...ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

วันที่ 2 ก.ค.ของทุกปี เป็นวันครบรอบการลอยตัวค่าเงินบาทของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง”

ในปีนี้นับเป็นปีที่ 21 จากวิกฤตการณ์ดังกล่าว และเช่นเดียวกันกับทุกๆ ปี สื่อต่างๆ มักจะลงบทความรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น ซึ่งอันที่จริงแล้วมันไม่ใช่เรื่องน่าปีติยินดีแต่อย่างใด หากแต่เป็นอุทาหรณ์เตือนใจ มิให้เราหลงติดกับดักที่นำไปสู่วิกฤตอีกครั้ง เพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผู้ซึ่งเคยผ่านร้อนผ่านหนาวจากวิกฤตต้มยำกุ้งก็จะเกษียณเกือบทั้งหมด คงเหลือเพียงแต่คนรุ่นหลังซึ่งหากไม่ทราบประเด็นอาจเดินผิดพลาดซ้ำรอยในอดีตก็เป็นได้ ผมจึงขอชื่นชมสื่อต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้นำเรื่องราวของวิกฤตมาเผยแพร่ในช่วงเวลานี้

ผมเองก็เป็นหนึ่งในผลผลิตของวิกฤตเศรษฐกิจ ผมจบปริญญาตรีในปีที่ประเทศไทยลอยตัวค่าเงินบาท ด้วยงานที่หายากและด้วยความสงสัยส่วนตัวเกี่ยวกับเหตุและผลของวิกฤตเศรษฐกิจ ผมจึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์

ผมขอพาทุกท่านย้อนรอยไปดูวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งโดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า ในช่วงก่อนวิกฤต เศรษฐกิจไทยเติบโตเร็ว แต่ไม่พอเพียง และขาดภูมิคุ้มกันในหลายด้าน ส่งผลให้สะดุดขาตัวเองจนล้มลงไปในที่สุด ความฟุ้งเฟื้อและฟุ่มเฟือยส่งผลให้ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายปี การไหลเข้าออกของเงินอย่างเสรีในขณะที่ค่าเงินบาทตรึงกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เกิดการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่าเป็นจำนวนมากมาเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นไทยจนเกิดฟองสบู่ และเมื่อฟองสบู่แตกเงินทุนดังกล่าวจึงไหลกลับต่างประเทศอย่างฉับพลัน แต่ในขณะนั้น ประเทศไทยมีเงินตราต่างประเทศไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องร้องขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟและลอยตัวค่าเงินบาทในที่สุด

ค่าเงินบาทที่ลอยตัวได้อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วกว่าครึ่ง ส่งผลให้หนี้ต่างประเทศที่ประชาชนและบริษัทได้กู้ยืมมาเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล การรัดเข็มขัดการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินและการปรับขึ้นอย่างมากของอัตราดอกเบี้ยเพื่อยื้อมิให้เงินทุนไหลกลับได้กลายเป็นการซ้ำเติมต้นทุนของภาคธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้นการถูกบีบให้รัดเข็มขัดทางการคลังทำให้เราขาดอีกเครื่องมือในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรง ธนาคารปิดตัว บริษัทล้มละลาย ประชาชนตกงาน อันนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจในที่สุด

21 ปีให้หลัง หลายสิ่งหลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังคงมีกลิ่นอายของต้มยำกุ้งอยู่ เสาโฮปเวลล์และตึกร้างสมัยต้มยำกุ้งยังไม่รื้อถอน ค่าเงินบาทยังไม่กลับมาแข็งเท่าเดิม ดัชนีตลาดหุ้น SET Index ที่เพิ่งแซงระดับก่อนวิกฤตเมื่อไม่นานได้ดิ่งกลับมาต่ำกว่ามากในปัจจุบัน คงไม่ผิดนักที่หลายคนจะคิดว่าวิกฤตเศรษฐกิจอาจเกิดขึ้นกับเราอีกครั้ง เราจะซ้ำรอยต้มยำกุ้งอีกหรือไม่? นักวิเคราะห์บางท่านขนาดฟันธงว่าวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นทุกๆ สิบปีบวกลบ วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 และปีนี้ 2561 ก็สิริครบสิบปีหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์พอดี

ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีความเข้มแข็งและมีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่าเดิมมาก โอกาสที่จะเกิดซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้งแทบไม่มี เพราะเราได้นำประสบการณ์ที่เราเรียนรู้ในอดีต มาปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยพลิกฟื้นภายหลังวิกฤตไม่นาน ผมขอใช้โอกาสนี้ชี้ให้ท่านผู้อ่านได้เห็นในบางมิติที่ประเทศไทยได้ปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในช่วง 21 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้เรามีภูมิคุ้มกันจากวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆ

ประการแรก ประเทศไทยในปัจจุบันเป็นประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องมาหลายปี จากฐานการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าที่เข้มแข็งและกระจายตัวในหลายหมวดหมู่สินค้าและประเทศคู่ค้า รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากต่างชาติที่ได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวนอกจากไม่เป็นเหตุให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจดังเช่นในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งแล้ว แต่ยังช่วยบรรเทาความรุนแรงหากเกิดการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศอีกด้วย

ประการที่สอง ประเทศไทยในปัจจุบันมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับที่มั่นคงมาก กว่าสองแสนล้านดอลลาร์ คิดเป็น 3.6 เท่าของยอดหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และ 9.8 เดือนของมูลค่าการนำเข้า ระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพียงพอเป็นกันชนให้เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี จากเหตุผลสองประการข้างต้น เราจึงมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดวิกฤตการเงินดังเช่นในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง

ประการที่สาม ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปัจจุบันมีกลไกในการกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยงที่ดี และมีความมั่นคงด้านเงินทุนสูง โดยในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมที่เงินทุนสูงกว่ามาตรฐานสากลเกือบสองเท่า สะท้อนให้เห็นถึงความระมัดระวังของธนาคารพาณิชย์ไทยในการอนุมัติปล่อยกู้สินเชื่อ และเป็นภูมิคุ้มกันจากผลกระทบจากหนี้เสีย อันเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินและความมั่นคงของระบบธนาคารโดยรวมด้วย

ประการที่สี่ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดทุน ทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ ได้พัฒนามาเป็นทางเลือกการระดมทุนนอกเหนือจากช่องทางการกู้ยืมจากธนาคารเพียงอย่างเดียว จากเหตุผลประการที่สามและสี่ เราจึงมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดวิกฤตธนาคารดังเช่นในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง

ประการที่ห้า ภาคการคลังของประเทศไทยในปัจจุบันถือว่ามีความมั่นคง ด้วยระดับหนี้สาธารณะที่ต่ำเพียง 41% ต่อจีดีพี นอกจากนี้กฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐที่เริ่มบังคับใช้ในปีนี้ รวมทั้งการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางทำให้เรามั่นใจได้ว่าการคลังของรัฐมีความยั่งยืนและนโยบายการคลังจะยังคงเป็นที่พึ่งในการสนับสนุนเศรษฐกิจหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้

จากเหตุผลห้าประการข้างต้น ผมมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ซ้ำรอยวิกฤตในลักษณะเดิม หรือหากเกิดวิกฤตในรูปแบบใหม่ เศรษฐกิจไทยก็มีภูมิคุ้มกันเพียงพอให้แคล้วคลาดปลอดภัยได้ครับ

ภาพ เอเอฟพี