posttoday

ทหารไทยหนุนธุรกิจสีเขียวปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ

13 มิถุนายน 2561

ทีเอ็มบี แบงก์แรกในไทยออก"กรีนบอนด์"ที่ไอเอฟซีลงทุนทั้งหมด มูลค่า60ล้านดอลล์ หนุนดอกเบี้ยต่ำปล่อยกู้ธุรกิจเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

ทีเอ็มบี แบงก์แรกในไทยออก"กรีนบอนด์"ที่ไอเอฟซีลงทุนทั้งหมด มูลค่า60ล้านดอลล์ หนุนดอกเบี้ยต่ำปล่อยกู้ธุรกิจเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทีเอ็มบีเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่ออกพันธบัตรสีเขียว (กรีนบอนด์) อายุ 7 ปี มูลค่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,850 ล้านบาท โดยบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) เป็นผู้ลงทุนทั้งหมด เพื่อนำเงินไปส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งผลตอบแทนของกรีน บอนด์ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ยืนยันว่าถูกกว่าบอนด์ปกติ ทำให้ธนาคารสามารถนำเงินทุนดังกล่าวไปปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธุรกิจเป้าหมาย

ทั้งนี้ ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าธุรกิจสีเขียวอยู่แล้ว โดยปัจจุบันพอร์ตมีอยู่ที่ 9,000 ล้านบาท ฐานลูกค้า 40-50 ราย โดยตั้งเป้าเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า และเน้นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมากขึ้น ซึ่งไม่ยากเพราะประเทศไทยกำลังตื่นตัวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ธนาคารเตรียมออกพันธบัตรอีกชุดหนึ่งในวงเงิน 90 ล้านดอลลาร์ กับไอเอฟซี เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอี สานต่อความร่วมมือหลังจากเคยร่วมกันช่วยเหลือ เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเมื่อปี 2555 และลดความเสี่ยงสินเชื่อเอสเอ็มอีเมื่อปี 2557

นายวิเวก พาทัค ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ไอเอฟซี กล่าวว่า ทหารไทยเป็นธนาคารแรกของไทยที่ไอเอฟซีสนับสนุนการลงทุนกรีนบอนด์ และเป็นชุดที่ 2 ของภูมิภาค หลังจากไอเอฟซีร่วมมือกับฟิลิปปินส์เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ปัจจุบันไอเอฟซีลงทุนในกรีนบอนด์แล้ว 7,000 ล้านดอลลาร์

นายปิติ กล่าวว่า คาดว่าสินเชื่อรวมปีนี้จะเติบโตไม่ถึง 10% แต่อยู่ในกรอบ เป้าหมายที่ตั้งไว้ 8-10% แม้ว่า 4 เดือนแรกเติบโตไม่ถึง 1% ก็ตาม สำหรับคุณภาพสินเชื่อทรงตัว แต่เอ็นพีแอลหลักๆ ยังมาจากเอสเอ็มอี คาดว่าในไตรมาส 3-4 สินเชื่อเอสเอ็มอีจะเริ่มฟื้นตัวได้ตามสินเชื่อรายใหญ่ที่เริ่ม ฟื้นตัวได้ก่อน ส่วนกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ ธุรกิจที่ปรับตัวช้า ไม่ได้จำกัดเป็นรายอุตสาหกรรม เพราะบางอุตสาหกรรมแย่ แต่ก็มีผู้ประกอบการอยู่รอดได้