posttoday

แบงก์ต่างชาติยกไทย เหมาะเป็นฮับตลาดบอนด์

11 มิถุนายน 2561

ธนาคารต่างชาติมั่นใจไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการออกตราสารหนี้และพันธบัตร ของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน

ธนาคารต่างชาติมั่นใจไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการออกตราสารหนี้และพันธบัตร ของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน

************************

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิติวงษ์

การเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะในกลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่เริ่มเปิดประเทศและปรับปรุงกฎระเบียบ
การลงทุนต่างๆ ทำให้การลงทุนหลั่งไหลเข้าไปในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้มากขึ้น นับเป็นโอกาสที่ไทยจะยกระดับตลาดเงินและตลาดทุนขึ้นเป็นศูนย์กลางการระดมทุนของกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี

แอรอน กวั๊ก หัวหน้าสายงานตลาดเงินและตลาดทุน ภูมิภาคอาเซียน ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการออกตราสารหนี้และพันธบัตร (บอนด์) ของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาวกัมพูชา และเมียนมา เนื่องจากประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน พร้อมและมีสภาพคล่องเพียงพอ ซึ่งปัจจุบันลาวได้มาออกพันธบัตรในประเทศไทยอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ตลาดเงินตลาดทุนพัฒนาไปมาก หากประเทศเพื่อนบ้านของไทยต้องการพัฒนาตลาดบอนด์ขึ้นมาเองต้องใช้เวลานาน อย่างประเทศไทยต้องใช้เวลานานถึงกว่า 20 ปี กว่าจะพัฒนาตลาดมาจนถึงขั้นมีเสถียรภาพและมาตรฐานในปัจจุบัน อีกทั้งตลาดการระดมทุนเปิดทำธุรกรรมข้ามแดนสะดวกขึ้น การเข้ามาออกบอนด์ในตลาดไทยจึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับประเทศเพื่อนบ้าน

“ปริมาณบอนด์ต่างชาติที่ออกในไทยที่จะครบกำหนด 18 เดือนข้างหน้า มีอยู่ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 50% ออกโดยเกาหลี 30-40% ออกโดยลาว” กวั๊ก กล่าว

สำหรับกลุ่มซีแอลเอ็มวีมีปริมาณออกบอนด์ยังไม่มาก แต่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น เนื่องจากธุรกิจเห็นประโยชน์ของตลาดตราสารที่เป็นทางเลือกระดมทุนและการบริหารต้นทุนทางการเงิน สอดคล้องกับตลาดบอนด์ในอาเซียนที่เติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2560 มูลค่าออกบอนด์ในอาเซียนทั้งจากผู้ออกท้องถิ่นและต่างชาติอยู่ที่ 1.65 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 1.25 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อปีก่อนหน้า ก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปี 2553 ที่มูลค่าเพียง 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์

ในขณะที่ ศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการ ทริส เรทติ้ง มองว่า ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งระดมทุนของธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในระยะแรกอาจจะมีเอกชนที่จะมาระดมทุนในตลาดไทยไม่มาก เพราะบริษัทที่มีความสามารถมาระดมทุนต่างประเทศ ก็ต้องเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่และเป็นที่รู้จัก แต่ในอนาคตตลาดกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มเติบโตมาก

กวั๊ก กล่าวว่า ภาคธุรกิจมีความท้าทายในการบริหารต้นทุนการเงินที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง จาก 1.75% ในปัจจุบัน เป็น 2.5% ในสิ้นปีนี้ ดอกเบี้ยสินเชื่อเตรียมขยับขึ้นสังเกตจากดอกเบี้ยไลบอร์ 3 เดือน ที่คาดว่าจะเพิ่มจาก 2.32% เป็น 2.75% ในปลายปี ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี เพิ่มเป็น 3.1% สิ้นปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.97%

“ภายใต้แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นที่มาพร้อมกับเศรษฐกิจอาเซียนมีการเติบโตดี จึงเห็นความต้องการระดมทุนเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการบริหารต้นทุนการเงินที่มีประสิทธิภาพ โดยเราเห็นบอนด์ยาวผลตอบแทนปรับขึ้นช้ากว่าบอนด์สั้น คาดว่าธุรกิจจะเริ่มวางแผนออกบอนด์ระยะยาวขึ้น 5-10 ปี เพื่อล็อกต้นทุน” กวั๊ก กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ย แต่เชื่อว่ากระทบกับสภาพคล่องในอาเซียน รวมทั้งไทยไม่มาก เพราะภูมิภาคนี้พื้นฐานเศรษฐกิจดี เงินไหลออกจะเป็นนักลงทุนระยะสั้นเพียงเล็กน้อย ส่วนการที่ยุโรปส่งสัญญาณหยุดคิวอีไม่มีผลกระทบที่เป็นนัยสำคัญต่ออาเซียนทั้งในแง่เงินไหลออกและค่าเงินทุนเคลื่อนย้ายภูมิภาคนี้อ่อนไหวจากปัจจัยเฟดมากกว่า อีกทั้งอาเซียนมีสภาพคล่องอยู่มาก

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศในภูมิภาคอาจจะไม่ได้ขึ้นตามเฟดเสมอไป โดยทิศทางดอกเบี้ยแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในของ
ประเทศนั้นๆ มากกว่า

ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศไทย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า คาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายไทยขึ้น 2 ครั้งในปีนี้ ครั้งละ 0.25% หลังจากเศรษฐกิจไทยมีการเติบโตที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยธนาคารยังคงประมาณการจีดีพีปี 2561 ไว้ที่ 4.3% เป็นการเข้าสู่การเติบโตระดับศักยภาพ โดยหลักมาจากโครงการลงทุนภาครัฐที่เริ่มเดินเครื่องหลังจากล่าช้าไปในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งนักลงทุนต่างชาติมั่นใจพื้นฐานเศรษฐกิจไทยว่ามีความแข็งแกร่งและมีการลงทุนในสิ่งใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมนวัตกรรมและดิจิทัลที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตในระดับศักยภาพได้ต่อไป