posttoday

แบงก์ชี้จ้างงานฟื้นตามศก.

08 มิถุนายน 2561

แบงก์เผยแรงงานต่างด้าวแห่ทำงานในไทยเดือน ม.ค. 2561 เพิ่มขึ้น 46.2% สูงสุดในรอบ 10 ปี สะท้อนภาพเศรษฐกิจฟื้นตัว

แบงก์เผยแรงงานต่างด้าวแห่ทำงานในไทยเดือน ม.ค. 2561 เพิ่มขึ้น 46.2% สูงสุดในรอบ 10 ปี สะท้อนภาพเศรษฐกิจฟื้นตัว

รายงานข่าวจากฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานในไทยพบว่า มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมาก โดยในเดือน ม.ค. 2561 มีอัตราการจ้างงาน 2.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 46.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2551 เป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8

ด้านแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานสูงสุด 5 อันดับแรกคือ เมียนมา จำนวน 1.3 ล้านคน รองลงมาคือ กัมพูชา 3.5 แสนคน ลาว 1.7 แสนคน ญี่ปุ่น 3.6 หมื่นคน และจีน 2.3 หมื่นคน ทางด้านแรงงานอาเซียน มีจำนวน 1.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 46.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 3.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

สำหรับในส่วนของแรงงานอาเซียน แบ่งเป็น อาเซียน ลบ 4 (ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย) และซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) โดยเดือน ม.ค. 2561 คิดเป็น 1.1% และ 98.9% ของแรงงานอาเซียนทั้งหมดตามลำดับ และคิดเป็น 1.1% และ 92.9% ของแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั้งหมดตามลำดับ

รายงานข่าวระบุว่า แรงงานต่างด้าวจำแนกตามลักษณะการเข้าเมืองเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มแรงงานเข้ามาทำงานชั่วคราว (NonImmigrant) คิดเป็น 94.1% ของแรงงานที่ได้รับอนุญาตทั้งหมด กลุ่มแรงงานที่เป็นชนกลุ่มน้อย (Minority) คิดเป็นสัดส่วน 2.8% กลุ่มแรงงานที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายพิเศษ (Contribution to Investment) 2.1% และกลุ่มแรงงานที่มีชายแดนติดกับไทยเข้ามาทำงานไป-กลับ หรือตามฤดูกาล (Cross-Border Migration for Daily or Seasonal Work) คิดเป็นสัดส่วน 1.0%

ทั้งนี้ การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิตเพื่อส่งออกได้แรงส่งจากการส่งออกที่ฟื้นตัว ทำให้มีการขยายกำลังการผลิต อีกทั้งภาคบริการที่ดีขึ้นจากการท่องเที่ยวก็ทำให้มีการต้องการแรงงานในส่วนนี้มากขึ้น

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ จะปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ One Stop Service ในการลงทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวซึ่งจะไม่มีการขยายเวลาออกไป ถ้าพ้นกำหนดแรงงานต่างด้าวจะไม่สามารถอยู่และทำงานต่อไปได้

"ขณะนี้คงเหลือแรงงาน 3 สัญชาติที่ต้องพิสูจน์สัญชาติจำนวน 37,414 คน เป็นกัมพูชา 30,122 คน ลาว 6,452 คน เมียนมา 840 คน จากยอดที่ต้องดำเนินการทั้งสิ้น 134,491 คน เป็นกัมพูชา 104,457 คน ลาว 12,327 คน เมียนมา 17,707 คน ส่วนแรงงานคงเหลือที่ต้องเข้าศูนย์ OSS มีจำนวน 93,657 คน เป็นกัมพูชา 61,295 คน ลาว 10,205 คน เมียนมา 22,157 คน จากจำนวนที่ต้องเข้าศูนย์ OSS 360,222 คน" อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว