posttoday

คลังชะลอแผนเก็บภาษีก๊าซคาร์บอนฯน้ำมัน หลังราคาพุ่ง

04 มิถุนายน 2561

กรมสรรพสามิตประชุมร่วมกระทรวงพลังงาน ชะลอแผนเก็บภาษีซีโอทูออกไปก่อน เหตุประชาชนเดือดร้อน ราคาน้ำมันขึ้น

กรมสรรพสามิตประชุมร่วมกระทรวงพลังงาน ชะลอแผนเก็บภาษีซีโอทูออกไปก่อน เหตุประชาชนเดือดร้อน ราคาน้ำมันขึ้น

แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับกระทรวงพลังงานเพื่อขอจัดเก็บภาษีก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ (ซีโอทู) กับน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งเบนซิน ดีเซล แอลพีจี เอ็นจีวี และแก๊สโซฮอลล์ที่จำหน่ายตามสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศต้องชะลอออกไปก่อน เพราะไม่ต้องการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในตอนนี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาน้ำมันในตลาดโลกกำลังอยู่ช่วงขาขึ้น ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มตาม และอาจกระทบต่อการปรับค่าครองชีพอื่นตามมา ทั้งราคาสินค้า ค่าโดยสารเดินทางของประชาชน ดังนั้นหากมีการเก็บภาษีซีโอทูเพิ่ม จะเป็นการซ้ำเติมให้ราคาน้ำมันแพงขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเมื่อสถานการณ์มีความเหมาะสมและราคาน้ำมันลดต่ำลง กรมสรรพสามิตอาจต้องนำเรื่องกลับมาพิจารณาร่วมกับกระทรวงพลังงานอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ทำข้อตกลงการเป็นภาคีสมาชิกกับนานาชาติ ในการร่วมลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้แล้ว ซึ่งไทยจะต้องร่วมลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฯ ตามอัตราที่กำหนด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการควบคุมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงให้น้อยลง เพราะถือเป็นตัวกลางที่ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศ

แหล่งข่าวระบุว่า ขณะที่การศึกษาจัดเก็บภาษีซีโอทูกับสินค้าอื่นๆ กรมสรรพสามิตยังเดินหน้าศึกษาตามปกติ เช่น รถจักรยานยนต์ คาดว่าจะมีการเก็บภาษีตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มคันละ 150-250 บาท ซึ่งถือว่าไม่มากไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการเพิ่มราคาขายปลีกรถจักรยานยนต์ และทำให้ผู้บริโภค ผู้มีรายได้น้อยได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากผู้ผลิตอาจเลือกรับภาระภาษีไว้เอง

“การศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พบว่าปัจจุบันรถจักรยานยนต์ที่ใช้ในประเทศ 80% เป็นรถจักรยานยนต์มีความจุของกระบอกสูบไม่เกิน 150 ซีซี มีราคาขายปลีกประมาณ 3-5 หมื่นบาท/คัน ซึ่งมีภาระภาษีสรรพสามิต 750-1,250 บาท/คัน แต่หากมีการจัดเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ จะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.5% ของราคาขายปลีก หรือมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 150-250 บาท/คัน” แหล่งข่าวระบุ

ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตมีการจัดเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ตามหลักการความฟุ่มเฟือย โดยแบ่งประเภทของอัตราภาษีตามขนาดความจุของกระบอกสูบ แต่เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

แหล่งข่าวระบุว่า ดังนั้นจึงมีแนวคิดในการจัดเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นไปตามหลักการจัดเก็บภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม และจะส่งผลดีต่อการสนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในประเทศ ในการพัฒนาเทคโนโลยีรถจักรยานยนต์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น