posttoday

ธปท.เร่งปฏิรูปกำกับแบงก์

01 มิถุนายน 2561

ธปท.มิติใหม่ผ่อนเกณฑ์เอกชนทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศประเดิม 6 บริษัทใหญ่ ดึงเอกชนร่วมระดมสมองปฏิรูปการกำกับสถาบันการเงิน

ธปท.มิติใหม่ผ่อนเกณฑ์เอกชนทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศประเดิม 6 บริษัทใหญ่ ดึงเอกชนร่วมระดมสมองปฏิรูปการกำกับสถาบันการเงิน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้อนุญาตให้บริษัทที่ผ่านการตรวจคุณสมบัติ 6 แห่ง สามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ได้ โดยไม่ต้องแสดงเอกสาร เช่น ใบกำกับสินค้า สัญญาเงินกู้ หรือเอกสาร อื่นๆ ในการทำธุรกรรม เป็นการอำนวยความสะดวก ลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและธนาคารพาณิชย์มากขึ้น

สำหรับบริษัท 6 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท การบินไทย บริษัท เอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง และบริษัท มิตรผล เทรชเชอรี่ เซ็นเตอร์ และยังขยายเวลาให้บริษัทที่สนใจเข้ามาสมัครเพิ่มจนถึงวันที่ 16 พ.ย. 2561 ซึ่งจะผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจมากขึ้น

นายวิรไท กล่าวว่า ในครึ่งหลังของปี 2561 ธปท.จะดำเนินการปฏิรูปกฎเกณฑ์การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (FX) ระยะที่ 2 โดยจะเน้นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและบุคคลรายย่อยให้บริหารเงินตราต่างประเทศได้คล่องตัวมากขึ้น เช่น การลดเอกสารในการทำธุรกรรม การรวมบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศที่ปัจจุบันมีหลายประเภทเข้าด้วยกัน รวมถึงการผ่อนคลายการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยไม่ต้องผ่านตัวแทน นอกจากนี้ยังจะมีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และธุรกิจโอนเงินระหว่างประเทศ ให้สอดคล้องกับการบริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

"ธปท.ยังมีแผนดำเนินการปฏิรูปการกำกับสถาบันการเงิน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2561 โดยจะเชิญสถาบันการเงินและภาคธุรกิจเข้ามาร่วมในการปฏิรูปครั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 4 เดือน ประเด็นสำคัญจะต้องทำให้สถาบันการเงินทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ให้คล่องตัวมากขึ้น ทั้งการทำงานภายในและการทำธุรกิจของสถาบันการเงิน ขยายขอบเขตการลงทุนไปในบริษัทเทคโนโลยีที่เกิดใหม่มากขึ้น" นายวิรไท กล่าว

นอกจากนี้ ยังต้องทำให้สถาบันการเงินปล่อยกู้สินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยลดขั้นตอนการพิจารณา สินเชื่อ การลดจำนวนเอกสาร การบริหารจัดการสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ่งจะลดต้นทุนทั้งของสถาบันการเงินและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี