posttoday

กรุงไทยปัดฝุ่นธุรกิจเช่าซื้อ

29 พฤษภาคม 2561

กรุงไทยติดกับดักสินเชื่อชะลอ เร่งทบทวนแผนกลับมาทำลีสซิ่งอีกครั้งหลังจากหยุดแก้ปัญหาหนี้เสีย

กรุงไทยติดกับดักสินเชื่อชะลอ เร่งทบทวนแผนกลับมาทำลีสซิ่งอีกครั้งหลังจากหยุดแก้ปัญหาหนี้เสีย

นายผยง ศรีวณิช กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกำลังเร่งทบทวนแผนธุรกิจ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (ลีสซิ่ง) หลังมองเห็นจังหวะที่เหมาะสมในการกลับมารุกธุรกิจลีสซิ่งอีกครั้ง เนื่องจากเห็นสัญญาณที่ดีของสินเชื่อรถยนต์ที่ขยายตัวโดดเด่นเหนือกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของสินเชื่อรวม แต่จะกลับมาทำเมื่อใดยังตอบไม่ได้ เพราะต้องใช้เวลาจัดทำแผนธุรกิจที่ชัดเจนก่อนว่าจะทำในรูปแบบใด ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะให้ลีสซิ่งอยู่ภายใต้ธนาคาร หรือเป็นบริษัทลูกเหมือนเดิม หรือจะมีพันธมิตรทางธุรกิจ

ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อในช่วง 4 เดือนแรกของธนาคารกรุงไทยติดลบ 0.19% ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากธนาคารไม่ได้ประโยชน์จากสินเชื่อในระบบที่เติบโตได้ดี ทั้งสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่มีในธนาคารเพราะแยกให้บริษัท บัตรกรุงไทย (เคทีซี) ทำ ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อที่เติบโตได้ดี ธนาคารไม่ได้ประโยชน์เนื่องจากหยุดดำเนินการไปพักใหญ่จากปัญหาคุณภาพสินเชื่อที่ปล่อยไปในอดีตด้อยลง ซึ่งเกิดจากหลายประเด็นรวมทั้งนโยบายรถยนต์คันแรกด้วย

อย่างไรก็ดี สินเชื่อบ้านและสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอส เอ็มอี) เริ่มฟื้นตัวหลังซบเซาไปบ้าง ส่วนสินเชื่อรายใหญ่เติบโตได้ดี เช่นเดียวกับสินเชื่อบุคคลที่ขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่ง สินเชื่อบุคคลของกรุงไทยส่วนใหญ่ปล่อยให้พนักงานขององค์กรและหน่วยงานภาครัฐที่มีความร่วมมือ รวมทั้งขายข้ามผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าสินเชื่อบ้าน ทำให้มีโอกาสปรับเป้าหมายสินเชื่อบุคคลเพิ่ม

"ธนาคารยังคงเป้าหมายสินเชื่อรวมเติบโต 6-7% ซึ่งยอมรับว่าท้าทาย หลังจาก 4 เดือนแรกสินเชื่อติดลบ แต่ก็มีโอกาสจากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโต ซึ่งแนวโน้มไตรมาส 2 คาดว่าสินเชื่อจะเติบโตตามระบบ" นายผยง กล่าว

นายผยง กล่าวอีกว่า ธนาคารมีแผนปรับเปลี่ยนและเพิ่มรูปแบบสาขาใหม่หลายรูปแบบ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้บริการของลูกค้า ล่าสุดได้นำร่องรูปแบบสาขาเปเปอร์เลส 2 แห่ง ได้แก่ สาขาสำนักงานใหญ่นานา และสาขาปิ่นเกล้า นำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนกระบวนการคนและเอกสารที่เป็น กระดาษ สามารถลดระยะเวลาทำธุรกรรมได้ถึง 25% โดยเตรียมจะพิจารณาขยายสาขารูปแบบนี้ต่อไปอีก

สำหรับการบริหารจัดการพนักงานสาขาไม่มีแผนลดคน แต่เน้นฝึกอบรมทักษะใหม่ (รี-สกิล) โดยเฉพาะการขายและให้บริการ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาแก่ลูกค้าในการใช้บริการธุรกรรมช่องทางใหม่ๆ สนับสนุนให้ลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นทักษะที่ธนาคารต้องการอย่างมาก