posttoday

ธกส.อนุมัติสินเชื่อ ให้กู้ทำแฟรนไชส์

19 พฤษภาคม 2561

บอร์ด ธ.ก.ส.ไฟเขียวอัด 2,000 ล้าน ให้เกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กู้ทำแฟรนไชส์ ดอกเบี้ย 3 ปีแรก 5% หวังสร้างรายได้เสริม

บอร์ด ธ.ก.ส.ไฟเขียวอัด 2,000 ล้าน ให้เกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กู้ทำแฟรนไชส์ ดอกเบี้ย 3 ปีแรก 5% หวังสร้างรายได้เสริม

รายงานข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร ที่มีนายอภิศักดิ์ ตันติ วรวงศ์ รมว.คลัง เป็นประธาน เห็นชอบให้ ธ.ก.ส.ดำเนินโครงการสินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการ ส่งเสริมให้เกษตรกร บุคคล กลุ่มวิสาหกิจ ชุมชน และสหกรณ์ภาคการเกษตร มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม

ทั้งนี้ เบื้องต้นคณะกรรมการ ธ.ก.ส.ได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อรวม 2,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยปีที่ 1-3 ในอัตรา เอ็มอาร์อาร์ -2 หรือเอ็มแอลอาร์ ซึ่งเท่ากับ 5% (ปัจจุบัน เอ็มอาร์อาร์ เท่ากับ 7% และเอ็มแอลอาร์ เท่ากับ 5%) และตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของประเภทธุรกิจ ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561-31 มี.ค. 2566

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส.ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงได้จัด "โครงการ 100 แฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อเกษตรกร ซึ่งเป็นโครงการให้สินเชื่อโดยไม่คิดดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก แก่เกษตรกรที่ลงทะเบียนผ่านโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนทั้งสิ้น 3.9 ล้านคน แบ่งเป็นเกษตรกรจำนวน 3.3 ล้านคน และผู้รับจ้างภาคเกษตรจำนวน 6 แสนคน เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้รับจ้างภาคเกษตรที่มีรายได้น้อยมีอาชีพเสริม มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และไม่ต้องเดินทางออกนอกพื้นที่หลังหมดฤดูทำการเกษตร

ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะคัดเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการพัฒนาจากกรมให้ ธ.ก.ส.พิจารณา เพื่อเข้าร่วมโครงการ โดยกรมจะจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรที่ต้องการมีอาชีพเสริม ส่วนการซื้อธุรกิจแฟรนไชส์จะเป็น แฟรนไชส์ที่มีขนาดไม่ใหญ่ เป็นธุรกิจง่ายๆ ที่เกษตรกรสามารถใช้ประกอบเป็นอาชีพได้ทันที เช่น อาหารและเครื่องดื่มประเภทต่างๆ

"ทั้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและ ธ.ก.ส.มีการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์เกษตรกร ทั้งการเลือกซื้อแฟรนไชส์อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ การจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายแบบง่าย หลักการบริหารธุรกิจเพื่อให้กิจการ อยู่รอด" แหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส. เปิดเผย

นอกจากนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ดังกล่าวจะเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกรตลอดระยะเวลาที่ประกอบธุรกิจ ซึ่งจะสามารถลดความเสี่ยงต่อความล้มเหลวใน การประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน ดังนั้น การมีพี่เลี้ยงจะช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปได้ตลอดรอดฝั่ง รวมถึงสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการ รายใหม่ในการก้าวเข้าสู่การมีอาชีพอย่างเต็มตัว