posttoday

ตามคาด! กนง.คงดอกเบี้ย 1.5%

16 พฤษภาคม 2561

กนง. ยังไม่เซอร์ไพร์ส คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% สนับสนุนเศรษฐกิจต่อไป และให้เงินเฟ้อเข้ากรอบเข้าหมายอย่างยั่งยืน

กนง. ยังไม่เซอร์ไพร์ส คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% สนับสนุนเศรษฐกิจต่อไป และให้เงินเฟ้อเข้ากรอบเข้าหมายอย่างยั่งยืน

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมกนง. ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ว่า คณะกรรมการ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ต่อปี โดยในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุม โดยการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องโดยได้รับแรงส่งจากทั้งภาคต่างประเทศและอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้นและดีกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน

สำหรับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ประเมินไว้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน

"โดยรวมคณะกรรมการ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้" นายจาตุรงค์ กล่าว

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ประเมินไว้ โดยเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจึงมีแนวโน้มที่จะปรับประมาณการราคาน้ำมันเพิ่ม แต่การที่เงินเฟ้อฟื้นช้ามาจากอาหารสดที่ราคาต่ำจากปริมาณผลผลิตมาก ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทปรับอ่อนค่าลง แต่ในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มผันผวน โดยมีสาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงิน การคลังและการค้าระหว่างประเทศของประเทศอุตสาหกรรมหลัก เห็นควรให้ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่อาจจะสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) ติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนไป