posttoday

เอ็นพีแอลแบงก์ขยับ ธปท.เผยปรับขึ้น0.01% ไม่น่าห่วง

15 พฤษภาคม 2561

ธปท.ยันเอ็นพีแอลผ่านจุดสูงสุดแล้ว แม้ไตรมาสแรกจะขึ้น จับตารายได้ค่าธรรมเนียมไตรมาส 2 ลงแรงจากยกเลิกค่าโอนดิจิทัล

ธปท.ยันเอ็นพีแอลผ่านจุดสูงสุดแล้ว แม้ไตรมาสแรกจะขึ้น จับตารายได้ค่าธรรมเนียมไตรมาส 2 ลงแรงจากยกเลิกค่าโอนดิจิทัล

น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสแรกปี 2561 ว่า คุณภาพ สินเชื่อทรงตัวจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 2.92% เพิ่มขึ้นจาก 2.91% เมื่อสิ้นปีที่แล้ว โดยมียอดคงค้างเอ็นพีแอล 4.43 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.45 หมื่นล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากสิ้นปี 2560 ซึ่ง สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และสินเชื่อที่อยู่อาศัยเอ็นพีแอลยังเพิ่มขึ้น

"การเพิ่มเพียง 0.01% ไม่มีนัยสำคัญ ยังคงยืนยันว่าเอ็นพีแอลของระบบผ่านจุดสูงสุด (พีก) มาแล้วเมื่อสิ้นปี 2560 เพราะเราเห็นสัญญาณเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง หนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษก็ลดลงซึ่งมาจากทั้งลดเพราะไปเป็นเอ็นพีแอล และลดจากการผิดนัดหนี้ใหม่น้อยลงด้วย มองไปข้างหน้าเอ็นพีแอลมีแนวโน้มลดลง" น.ส.ดารณี กล่าว

สำหรับสินเชื่อขยายตัว 4.7% ในไตรมาสแรกขยายตัวในกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดกลางและขนาดใหญ่ รวมทั้งสินเชื่อรถยนต์ที่โตถึง 10.6% ขยายตัว 2 หลักเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี โดยสินเชื่อพร้อมขยายตัวสอดคล้องกับเศรษฐกิจ คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ 5-6% ดีกว่าปีที่แล้วที่ 4% แต่คงไม่เห็น 1.5-2 เท่าของจีดีพี เพราะธุรกิจระดมทุนผ่านตลาดเงินและตลาดทุนทดแทนสินเชื่อ ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (นิม) ลดลงจาก 2.75% เหลือ 2.66% จากการเน้นปล่อยกู้เอสเอ็มอีรายกลางและใหญ่ที่สเปรดต่ำลง

อย่างไรก็ดี ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไปถูกกดดันมากขึ้นจากรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนที่หายไปตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. โดยจะเห็นผลกระทบในไตรมาส 2 ที่จะทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ปัจจุบันรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนเงินมีสัดส่วน 12% หรือ 2.4 หมื่นล้านบาท จากรายได้ค่าธรรมเนียมรวม 2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ไตรมาสแรกรายได้จากค่านายหน้าประกันโตลดลงจากมาร์เก็ตคอนดักต์ แต่รายได้นายหน้าหลักทรัพย์โตดีมาก

นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเมินเบื้องต้นจากการใช้ IFRS9 มีผลให้อัตราสำรองหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารเพิ่มขึ้น 4-5 หมื่นล้านบาท แต่ไม่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันอัตราสำรองของธนาคารพาณิชย์ตั้งไว้เกินอยู่แล้ว และผลกระทบดังกล่าวน้อยกว่าเมื่อครั้งที่ใช้มาตรฐาน IAS39 เมื่อปี 2551 ที่มีผลให้สำรองเพิ่มขึ้น 1.2 แสนล้านบาท แต่ธนาคารพาณิชย์ก็เริ่มทยอยตั้ง และซึมซับเกณฑ์ใหม่อยู่แล้ว ทำให้ผล กระทบไม่รุนแรงเมื่อมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตามการใช้ IFRS9 สามารถยืดหยุ่นได้ภายใต้กรอบของมาตรฐานบัญชี