posttoday

สินเชื่อบ้านแข่งดุชิงลูกค้า

10 พฤษภาคม 2561

สินเชื่อบ้านแข่งเดือดยันโค้งสุดท้ายก่อนดอกเบี้ยขึ้น ธนชาตเบนเข็มบุกบ้านแลกเงินเพิ่มยิลด์ เจาะรีไฟแนนซ์คุมคุณภาพพอร์ต

สินเชื่อบ้านแข่งเดือดยันโค้งสุดท้ายก่อนดอกเบี้ยขึ้น ธนชาตเบนเข็มบุกบ้านแลกเงินเพิ่มยิลด์ เจาะรีไฟแนนซ์คุมคุณภาพพอร์ต

นายสุพจน์ สุขขะเสริมสุข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อเคหะ ธนาคารธนชาต เปิดเผยว่า ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยแข่งขันดุเดือดมาตลอดโดยเฉพาะการแข่งขันดอกเบี้ยต่ำในการดึงลูกค้า ทำให้อัตราผลตอบแทนสินเชื่อ (ยิลด์) ของกลุ่มบ้านต่ำมาก แต่ดอกเบี้ยบ้านจะต่ำต่อไปได้อีกไม่นาน เพราะต้นทุนการเงินในระบบกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จึงคาดว่าดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านจะทยอยปรับขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้

สำหรับธนชาตมีดอกเบี้ยที่แข่งขันได้ อัตราลอยตัวเฉลี่ย 3 ปี 3.4% เทียบกับตลาดที่เฉลี่ย 3.5% ส่วนตลาดกลุ่ม รีไฟแนนซ์มีแคมเปญอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกที่ 3.29% วงเงินอนุมัติสูงสุด 100% รีไฟแนนซ์ได้ทุกประเภทโครงการ พร้อมวงเงินสินเชื่ออเนกประสงค์ (ท็อปอัพ) อีกด้วย

"การแข่งขันไม่เคยลดความร้อนแรงลง ทำให้ดอกเบี้ยบ้านไม่ขึ้นมาระยะ หนึ่ง โดยเฉพาะบ้านในเซ็กเมนต์ดีๆ สู้ดอกเบี้ยกันสุดใจขาดดิ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ระมัดระวังเรื่องคุณภาพหนี้เพิ่มขึ้น เพราะกลัวเอ็นพีแอล" นายสุพจน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี การที่สินเชื่อบ้านแข่งขันสูงจนยิลด์ต่ำมาก ธนาคารจึงรุกสินเชื่อบ้านแลกเงิน ดอกเบี้ย 0% นาน 3 เดือน หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์บวก 1%  แต่การเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อบ้านแลกเงินและสินเชื่อเสริมจากบ้าน (โฮมพลัส) ค่อนข้างจำกัด เพราะต้องเป็นผู้ที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการใช้เงิน ทำให้โฟกัสยากเมื่อเทียบกับการซื้อบ้าน ปัจจุบันมียอดคงค้าง 6,000 ล้านบาท สัดส่วน 6% ของสินเชื่อบ้านรวม

นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลัง ธนชาตจะมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงไฮเอนด์ อายุระหว่าง 30-50 ปี มีรายได้ตั้งแต่ 3 หมื่นบาทขึ้นไป ราคาบ้าน 3-10 ล้านบาท พร้อมทั้งเน้นสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้านเนื่องจากเป็นกลุ่มที่คุณภาพดี

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่อยู่ที่ 7,000 ล้านบาท โดย 10% เป็นสินเชื่อรีไฟแนนซ์ อีก 8% เป็นสินเชื่อ บ้านแลกเงิน โดยสัดส่วนการปล่อยกู้ รีไฟแนนซ์และบ้านแลกเงิน 18% ของ สินเชื่อใหม่นั้น เพิ่มขึ้นจากปกติอยู่ที่ 12% ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อ ในช่วงไตรมาส 2 มีโอกาสเติบโตกว่าช่วงไตรมาสแรกแน่นอน

สำหรับปีนี้มีแผนปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น 20% จากปี 2560 หรือราว 2.4 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อคงค้างปีนี้โตขึ้น 7-8% หรือจาก 1.02 แสนล้านบาท เป็น 1.1 แสนล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปัจจุบันอยู่ที่ 3.8-3.9% และสิ้นปีจะบริหารจัดการไม่ให้เกิน 4% โดยหนึ่งในวิธีลดเอ็นพีแอลจะมีการขายหนี้ออกในช่วงกลางปีนี้