posttoday

เปิดเทอมใหญ่ จ่ายสะพัด 2.7 หมื่นล้าน

09 พฤษภาคม 2561

เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ปกครองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี61 เกินครึ่งล้วนกังวลสภาพคล่องทางการเงิน

เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ปกครองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี61 เกินครึ่งล้วนกังวลสภาพคล่องทางการเงิน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจพฤติกรรมผู้ปกครองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 64% มีความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินในช่วงเปิดเทอมใหญ่ แต่ยังมีความสามารถในการบริหารจัดการสภาพคล่องได้ โดยส่วนใหญ่ปรับตัวด้วยการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวันหารายได้เสริมเพิ่ม รวมถึงซื้อสินค้าด้านการศึกษาอย่างชุดนักเรียน หนังสือ และอุปกรณ์การเรียน ราคาประหยัด

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังไม่ปรับลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ยกเว้นค่าชุดนักเรียนที่จ่ายลดลง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่กำลังศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล น่าจะใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานคิดเป็นเม็ดเงินสะพัด 2.75 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 1.9% เมื่อเทียบกับในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปีที่แล้ว

ทั้งนี้ จากผลสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงิน สะท้อนถึงมุมมองการใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานของผู้ปกครองที่มีความระมัดระวังมากขึ้น ทั้งค่าเทอม และสินค้าด้านการศึกษา เช่น ชุดนักเรียน หนังสือ อุปกรณ์การเรียน ที่ยังไม่มีการปรับราคาสูงขึ้น

อีกทั้งจำนวนนักเรียนในระบบการศึกษาในปีการศึกษา 2561 น่าจะยังคงทรงตัว เมื่อเทียบกับในปีการศึกษา 2560 ส่งผลให้การใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 นี้ อาจไม่คึกคักเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

โดยผู้ผลิตสินค้าด้านการศึกษาแข่งขันทำการตลาดและจัดโปรโมชั่นด้านราคา ในขณะที่โรงเรียนกวดวิชาบางรายทยอยปิดสาขาบางสาขาลง ซึ่งแนวโน้มการเรียนกวดวิชาน่าจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปสู่การเรียนการสอนผ่านสื่อสมัยใหม่มากขึ้น ในส่วนของสถาบันเสริมทักษะต่างๆ ยังได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของบุตรหลาน ส่งผลให้ผู้ประกอบการยังสามารถเร่งทำการตลาดเพื่อขยายฐานนักเรียนใหม่ๆ ได้

สำหรับในช่วงก่อนเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาต่างเร่งทำการตลาด เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายจากผู้ปกครองล่วงหน้า และช่วงชิงกำลังซื้อในระยะเวลาสั้นๆ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มเผชิญโอกาสและความท้าทายที่แตกต่างกัน โดยผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าด้านการศึกษายังคงต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการตรึงราคาสินค้า ท่ามกลางการแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

ในขณะที่โรงเรียนกวดวิชาและสถาบันเสริมทักษะต่างๆ ยังได้รับอานิสงส์จากค่านิยมของผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่ต้องการเพิ่มทักษะทางด้านวิชาการและด้านอื่นๆ สำหรับบุตรหลาน ส่งผลให้ผู้ประกอบการยังสามารถเร่งทำการตลาดเพื่อขยายฐานนักเรียนใหม่ๆ ได้

ด้านแหล่งที่มาของงบประมาณเพื่อใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 92% เป็นเงินออม รองลงมา 60% ยืมญาติหรือเพื่อน ส่วนปัจจัยที่กลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญในการเลือกสถาบันการศึกษาสำหรับบุตรหลานสามลำดับแรก ได้แก่ ความเข้มข้นทางวิชาการและหลักสูตร ชื่อเสียงของโรงเรียน และการเดินทางที่สะดวก

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 59% มองว่า การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ จะมีผลกระทบต่อความต้องการแรงงานในอนาคต โดยส่วนใหญ่ 66% ได้เตรียมความพร้อมสำหรับบุตรหลาน เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานในยุคที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อย่างรุดหน้า ทั้งการฝึกทักษะบุตรหลานด้วยตนเอง และการให้บุตรหลานเรียนสถาบันเสริมทักษะเพื่อเพิ่มพูนทักษะต่างๆ

จากผลสำรวจข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เป็นต้น รวมถึงภาระหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ปกครองกลุ่มที่มีรายได้ครัวเรือนอยู่ในระดับไม่สูงมากนักส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561

อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญที่สามารถวางแผน หรือคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ส่งผลให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีการปรับตัวล่วงหน้า รวมถึงเตรียมความพร้อมในรูปแบบการออมเงิน