posttoday

กรุงไทยรื้อระบบให้สินเชื่อ

02 พฤษภาคม 2561

ธนาคารกรุงไทย ยอมรับจุดอ่อนการปล่อยสินเชื่อในอดีตเป็นปมเอ็นพีแอลในปัจจุบัน เร่งยกเครื่องระบบอนุมัติสินเชื่อ ควบคู่สางหนี้ค้างเก่า

ธนาคารกรุงไทย ยอมรับจุดอ่อนการปล่อยสินเชื่อในอดีตเป็นปมเอ็นพีแอลในปัจจุบัน เร่งยกเครื่องระบบอนุมัติสินเชื่อ ควบคู่สางหนี้ค้างเก่า

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น เป็นสินเชื่อที่ปล่อยมานานแล้ว แต่ก็ทำให้จุดประเด็นให้ธนาคารเร่งปรับปรุงระบบการคัดกรองคุณภาพสินเชื่อใหม่ให้เข้มงวดขึ้น เพื่อปรับองค์ประกอบของพอร์ตให้มีน้ำดีไหลเข้ามา ลดการกระจุกตัวของสินเชื่อบางประเภท เพิ่มความสมดุลความเสี่ยงและผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อ

ทั้งนี้ ธนาคารได้ปรับระบบการอนุมัติสินเชื่อใหม่ในส่วนของสินเชื่อรายย่อยมาได้ 2 ปีแล้ว ซึ่งได้ผลดีจากการที่สินเชื่อปล่อยใหม่มีเอ็นพีแอลต่ำมาก ในแผนต่อไปก็จะนำระบบที่พัฒนาดังกล่าวไปปรับใช้กับการอนุมัติสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ด้วย เชื่อว่า หากสินเชื่อใหม่ถูกปล่อยบนระบบที่คัดกรองเข้มขึ้นจะสามารถคุมกำเนิดเอ็นพีแอลได้

สำหรับทิศทางรูปแบบการอนุมัติ สินเชื่อจะลดการใช้ดุลพินิจ หันมาพัฒนาระบบการคัดกรองที่ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวิถีที่เปลี่ยนไป จากเดิมพิจารณาหลักประกันเป็นหลัก มาเป็นการพิจารณาจากพฤติกรรมเป็นหลัก น้ำหนักของหลักประกันที่นำมาขอสินเชื่อที่เคยสำคัญอันดับ 1 จะร่วงเป็นอันดับ 3 รองลงมาจากข้อมูลพื้นฐานในระบบคัดกรองและข้อมูลพฤติกรรมของผู้กู้

"แม้แต่ข้อมูลระบบคัดกรองการปล่อยสินเชื่อก็ต้องเปลี่ยน จากเดิมใช้มาตรฐานเดียวแบบปล่อยกู้ทุกคน ก็ต้องเปลี่ยนระบบใหม่มาใช้ตะแกรงถี่ขึ้น เช่น ประเมินความเสี่ยงตามลักษณะของแต่ละอุตสาหกรรม เพราะแต่ละธุรกิจหรือแต่ละราย ความเสี่ยงไม่เหมือนกัน มีผลกับการกำหนดราคา นอกจากนี้ยังต้องปรับปรุงกระบวนการอนุมัติไม่ให้มีช่องโหว่ด้วย" นายผยง กล่าว

นายผยง กล่าวว่า มาตรฐานรายงานทางบัญชีฉบับใหม่ (IFRS 9) เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ธนาคารต้องปรับปรุงคุณภาพหนี้ในพอร์ตให้แข็งแกร่ง เพราะมีผลต่อการตั้งสำรองหนี้เสียตามระบบใหม่ที่เข้มงวดขึ้นตามโอกาสที่จะเป็นหนี้เสีย จากปัจจุบันใช้หลักเกณฑ์ตั้งตามการเกิดหนี้เสีย แต่จากนโยบายบริหารความเสี่ยงของธนาคารที่เน้นการจัดชั้นเชิงคุณภาพ ตั้งสำรองล่วงหน้าเมื่อเห็นสัญญาณแม้ยังไม่เป็นหนี้เสีย ทำให้มั่นใจว่ามีความพร้อมหากทางการจะประกาศใช้

ทั้งนี้ ในสิ้นไตรมาสแรกของปี 2561 ธนาคารกรุงไทยมีอัตราสำรองต่อหนี้เสียอยู่ที่ 120.25% โดยมีเป้าหมายต้องการให้อัตราสำรองต่อหนี้เสียอยู่ใกล้เคียงกับคู่เทียบธนาคารใหญ่ แต่ก็ต้องพิจารณาพื้นฐานของธนาคารเป็นหลักด้วย หากมีกำลังก็จะทยอยเสริมสำรองให้แข็งแรงเพื่อรับ IFRS 9 ด้วย พร้อมทั้งจะพิจารณาในส่วนของการขายที่ดิน AQ ว่าจะคืนกลับมาเป็นกำไร หรือจะคงไว้ เพื่อเสริมเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งธนาคารพยายามแก้ไขปัญหาเอ็นพีแอลให้ลดลงให้ได้มากที่สุด