posttoday

ควบรวมแบงก์รัฐ นโยบายที่ยังไม่ชัดเจน

20 เมษายน 2561

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น ไม่เพียงแค่ธนาคารของรัฐเท่านั้นที่จะอยู่ยาก แต่ธนาคารพาณิชย์เองก็จะหืดจับเช่นกัน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น ไม่เพียงแค่ธนาคารของรัฐเท่านั้นที่จะอยู่ยาก แต่ธนาคารพาณิชย์เองก็จะหืดจับเช่นกัน

****************************

โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง

เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ไทย ด้วยการสนับสนุนด้านภาษี ทั้งภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ เป็นการวางระบบไว้รองรับการควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

มาตรการนี้ถูกมองทันทีว่าเป็นการเตรียมการ เอื้อให้มีการควบรวมกิจการของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่กำลังมีปัญหา ฐานะอ่อนแอหลายแห่ง จนถึงขั้นกระทรวงการคลังจะต้องเพิ่มทุนให้อย่างธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ที่กำลังอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ เพราะเล็งเห็นแล้วว่าหากไม่ทำอะไร ธนาคารรัฐจะอยู่ยากในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนผ่านจากยุคอะนาล็อกไปสู่ยุคดิจิทัล ที่จะมีฟินเทคเข้ามาสู่การแข่งขันและแย่งชิงธุรกิจจากแบงก์รัฐเหล่านี้

โดยข้อเท็จจริงของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น ไม่เพียงแค่ธนาคารของรัฐเท่านั้นที่จะอยู่ยาก แต่ธนาคารพาณิชย์เองก็จะหืดจับเช่นกัน เพราะดิจิทัลทำให้ต้องสละรายได้ค่าธรรมเนียมธนาคารออนไลน์ทั้งหมดไปร่วม 9,000 ล้านบาทแล้ว และในอนาคตจะต้องไปแข่งขันกับธุรกิจฟินเทคที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดไปอีก ดังนั้นขนาดของธนาคารจึงมีนัยที่สำคัญในอนาคต

นักวิเคราะห์ระบุว่า การจะรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์เอกชนขนาดใหญ่นั้น ดูแล้วยังไม่มีวี่แวว อย่างธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยานั้น มีผู้ถือหุ้นใหญ่ชัดเจน มีขนาดสินทรัพย์และส่วนแบ่งตลาดรวมกันแล้วสูงจนไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องไปรวมกับใคร

ส่วนธนาคารกรุงไทย และธนาคารทหารไทย ก็เป็นธนาคารที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งมีเงินกองทุนสูงเกินที่กฎหมายกำหนด มีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญสูง มีผลประกอบการที่ดี แม้ธนาคารกรุงไทยจะเผชิญกับปัญหาหนี้เสียของลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งจนทำให้ต้องสำรองหนี้เสียเพิ่ม กดกำไรให้ลดลง แต่ทั้งสองธนาคารนี้เหมือนกันในด้านการถือหุ้น แม้จะยืนยันว่ามีการบริหารงานแบบธนาคารเอกชน ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่มีรัฐถือหุ้นใหญ่ โดยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ) ถือหุ้นในธนาคารกรุงไทยอยู่ 55.07% แม้กองทุนฟื้นฟูฯ จะอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ก็ยกอำนาจในการดูแลให้คลังไป ส่วนธนาคารทหารไทยนั้นกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 25.92%

“ในด้านการถือหุ้นแล้วก็ยังนับว่าอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังก็มีนโยบายที่จะลดสัดส่วนหุ้นในบริษัทเอกชนออกไป ซึ่งมีกระแสข่าวมาโดยตลอดว่าทางกระทรวงการคลังจะขายหุ้นของธนาคารทหารไทยออก แต่ก็ยังขายไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนการเงินของกระทรวงการคลังที่ใส่เงินเข้าไปช่วยธนาคารทหารไทย ตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินปี 2540 นั้น อยู่ที่ราคาหุ้นละ 3.40 บาท ในขณะนี้ ราคาหุ้นหากขายหุ้นในราคาที่ต่ำกว่านี้ให้ใครก็ตาม ในทางนโยบายจะต้องตอบให้ได้ว่าเป็นเพราะอะไร นั่นจึงเป็นเหตุให้กระทรวงการคลังยังไม่สามารถลดสัดส่วนหุ้นในธนาคารทหารไทยลงได้” นักวิเคราะห์ระบุ

จิตรา อมรธรรม รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซียไซรัส มองว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่ธนาคารกรุงไทย และธนาคารทหารไทยจะควบรวมกัน และกระแสข่าวการควบรวมดังกล่าวมีมาเป็นระยะ เนื่องจากมองว่าแบงก์ดังกล่าวมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือกระทรวงการคลังเหมือนกัน จึงเป็นแรงจูงใจให้มีข่าวนี้เกิดขึ้น

นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส มองว่าหากมีการควบรวม 2 ธนาคารนี้ จะมีผลดีตรงที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ก็ยังไม่เห็นประโยชน์ในเชิงกลยุทธ์

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เคยเปรยเรื่องการควบรวม 2 ธนาคาร แต่ยังไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม และยังไม่มีการสั่งการออกมาเป็นนโยบายที่ชัดเจน เพราะจะต้องมีเหตุผลที่ดีในการตอบผู้ถือหุ้นและสาธารณชนว่าจะควบรวมเพื่ออะไร และการตีราคาสินทรัพย์ของ 2 ธนาคารก็ไม่ง่าย เนื่องจากธนาคารทหารไทยมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีกว่าธนาคารกรุงไทย ซึ่งจะต้องทำการสำรวจสินทรัพย์ (ดิวดิลิเจนต์) ก่อนและใครจะเป็นแกนนำในการควบรวม ซึ่งแน่นอนว่าน่าจะเป็นธนาคารกรุงไทยเพราะมีขนาดใหญ่กว่า

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในขณะนี้คือ ธนาคารกรุงไทยได้เสนอไปยังกระทรวงการคลัง สนใจที่จะซื้อหุ้นของไอแบงก์เพิ่มเพื่อเป็นพันธมิตรในทางธุรกิจ โดยไม่ได้นำมาควบรวมกับธนาคารกรุงไทย เนื่องจากเห็นศักยภาพของไอแบงก์ที่จะเสริมธุรกิจของธนาคารกรุงไทยให้ขยายได้

“ทางฝ่ายบริหารของกรุงไทยเห็นว่าหากซื้อกิจการของไอแบงก์โดยไม่ได้นำมาควบรวม จะได้ประโยชน์หลายอย่าง เพราะใบอนุญาตของไอแบงก์ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เงินฝากก็นำส่งเข้ากองทุนแบงก์รัฐซึ่งต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์จ่ายให้กองทุนฟื้นฟูฯ การถือหุ้นในไอแบงก์แล้วเสริมธุรกิจกับกรุงไทยจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย” แหล่งข่าวเปิดเผย

อย่างไรก็ดี ดีลนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายอีกเช่นกัน เพราะทางคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารกรุงไทยเป็นห่วงว่า แม้ในขณะนี้ไอแบงก์จะมีสถานะเป็นคลีนแบงก์ แต่ในอนาคตหากพอร์ตสินเชื่อเกิดเป็นหนี้เสียอีกจะเป็นปัญหา จึงต้องการให้กระทรวงการคลังการันตีว่าจะรับผิดชอบในส่วนนี้ให้ แต่ทางคลังไม่อาจตกลงในเงื่อนไขนี้ได้ จึงทำให้ดีลกรุงไทยซื้อไอแบงก์ไม่มีความคืบหน้า

“ขณะนี้ทาง รมว.คลัง ก็มีนโยบายว่าได้แก้ไขปัญหาของไอแบงก์ไประดับหนึ่งแล้ว ไม่จำเป็นต้องรีบขายหุ้น เพราะรีบขายก็จะถูกกดราคา ทางกระทรวงการคลังก็เตรียมที่จะเพิ่มทุนให้แล้ว สามารถทำธุรกิจต่อไปได้” แหล่งข่าวเปิดเผย

แม้การควบรวมธนาคารรัฐจะยังไม่เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทางนโยบายว่าต้องการเห็นแบงก์รัฐเป็นอย่างไรในอนาคต