posttoday

ขึ้นไตรมาส 2 ค่าเงินบาทผันผวน แต่หุ้นไทยยังไปต่อ

17 เมษายน 2561

สถานการณ์ค่าเงินบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 มีความผันผวนจนแทบจะคาดเดาไม่ได้

สถานการณ์ค่าเงินบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 มีความผันผวนจนแทบจะคาดเดาไม่ได้ เพราะปัจจัยที่ผลักดันให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไม่ว่าจะแข็งค่าหรืออ่อนค่า ไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐานจากนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียว

เดิมนักวิจัยนักวิเคราะห์ต่างประเมินกันว่า ค่าเงินบาทในปี 2561 อย่างไรก็ต้องอ่อนค่าจากสิ้นปี 2560 เงินบาทอยู่ที่ 32.55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เพราะต้านไม่ไหวจากแรงกดดันที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยจนแซงไทย เงินทุนต้องไหลออกไปหาความเสี่ยงต่ำกว่าและดอกเบี้ยสูงกว่า

ทว่า เปิดศักราชเงินบาทก็ถูกทดสอบทะลุแนวต้าน 32 บาทอย่างง่ายดาย ทุบสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 4 ปีก็แล้ว จนมารอบ 51 เดือน เหลือ 31.20 กระทั่งเคลื่อนไหวในกรอบแคบราว 31.10-31.30 เมื่อช่วงต้นไตรมาส 2 รอปัจจัยใหม่เข้ามา จนสำนักวิเคราะห์วิจัยต้องปรับประมาณการเงินบาทกันยกใหญ่จากที่เคยให้สิ้นปี 34 บาท/ดอลลาร์ หั่นลงมาเหลือ 32 ดอลลาร์ เพียงพ้นปีใหม่ไม่กี่เดือน

เหตุผลหลักของการแข็งค่าเมื่อต้นปีมาจากปัจจัยภายนอก ทั้งรัฐมนตรีคลังสหรัฐออกมาบอกว่าชอบให้ดอลลาร์อ่อน และผู้บริหารนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐลาออกและถูกปลด สร้างความสั่นคลอนให้ตลาดขาดความเชื่อมั่น เทขายดอลลาร์ ทำให้ค่าเงินคู่เทียบล้วนแข็งค่าขึ้น

ไทยยังมีปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าแบบทรงตัว คือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงต่อเนื่อง ตามการส่งออกขยายตัวสูง ขณะที่การนำเข้าต่ำเพราะไม่มีการลงทุน เป็นเหตุผลสำคัญที่หนุนให้เงินบาทแข็งค่าแซงหน้าทุกประเทศในภูมิภาค

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปียังมีปัจจัยรอทดสอบระยะต่อไป ความผันผวนยังรุนแรง มีโอกาสทั้งแข็งค่าและอ่อนค่า แต่ทุกคนมองตรงกันว่าปลายปีจะอ่อนค่ากว่าต้นปีแน่นอน

อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่า ปี 2561 เงินบาทจะแข็งค่าสุดในรอบปีที่ระดับ 30.50 บาท/ดอลลาร์ ราวกลางปีนี้ และเป็นการแข็งค่ามากสุดในรอบ 5 ปี จากสหรัฐไม่มีความชัดเจนในนโยบายการคลัง นักลงทุนไร้ความเชื่อมั่นสหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์อ่อน เงินทุนยังเทมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ต่อไป ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แทรกแซงได้น้อย เพราะเสี่ยงต่อการถูกจับตาการอุดหนุนค่าเงินให้ได้เปรียบทางการค้า

อย่างไรก็ดี เงินบาทจะเริ่มอ่อนค่าลงในช่วงไตรมาส 4 จากการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ของเฟด เงินทุนจะเคลื่อนย้ายกลับไปสหรัฐอีกครั้ง แต่อ่อนค่าลงไม่มาก โดยสิ้นปีคาดว่าอยู่ที่ 32 บาท/ดอลลาร์ เพราะไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงอยู่แม้ว่าจะแผ่วลงจากปีที่แล้วก็ตาม

“เงินบาทแข็งค่า เกิดผลกระทบต่อภาคเกษตรหนักที่สุด ที่ซ้ำเติมภาวะราคาสินค้าตกต่ำ โดยภาคเกษตรนับเป็นเหยื่อทั้งสงครามการค้าและสงครามค่าเงิน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไป เศรษฐกิจไทยคงฟื้นอย่างแท้จริงไม่ได้ แม้ตัวเลขจะไปที่ 4% ก็ตาม” อมรเทพ กล่าว

เหตุการณ์ที่ต้องติดตามในช่วงครึ่งหลังของปี คือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งของเฟด ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในการประชุมเอฟโอเอ็มซีเดือน มิ.ย.และ ธ.ค.การเลือกตั้งกลางสมัยของสหรัฐในช่วงเดือน พ.ย.นี้ สัญญาณการหยุดคิวอีของสหภาพยุโรป และผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ

วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนิตี้ เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นไทยไตรมาส 2 มีโอกาสปรับตัวขึ้นร้อนแรง โดยคาดว่าดัชนีมีโอกาสแตะขึ้นไปทดสอบที่ 1,900 จุด ช่วงปลายไตรมาส 2 หรือไตรมาส 3 ได้ เพราะนักลงทุนได้ผ่อนคลายประเด็นเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปแล้ว และเริ่มเห็นเม็ดเงินจากตลาดพันธบัตรเริ่มย้ายเข้ามาตลาดหุ้นทั่วโลกมากขึ้น หลังจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีสูงขึ้น และน่าจะทำให้เม็ดเงินต่างประเทศเข้ามาตลาดหุ้นไทยได้ โดยให้หุ้นเป้าหมายสิ้นปีนี้ที่ 1,884 จุด

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 2 เน้นการลงทุนหุ้นที่คาดว่าผลประกอบการไตรมาสแรกออกมาดี โดยเน้นในหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวกับยานยนต์ กลุ่มปิโตรเคมี ขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์อาจจะต้องรอดูสถานการณ์ก่อน เนื่องจากธนาคารบางแห่งต้องรอดูผลจากการเริ่มใช้ IFRS9 ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง สำหรับหุ้นที่แนะให้หลีกเลี่ยงไปก่อนเป็นรายตัวที่จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันขึ้นเป็นต้นทุนการดำเนินงานและไม่สามารถผลักดันต้นทุนให้ลูกค้าได้

จิตรา อมรธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาดว่า หุ้นในไตรมาส 2 จะแกว่งตัวขึ้น หลังจากถึงจุดต่ำสุดไปแล้ว และหาฐานเจอแต่จะมีจุดสูงสุดไม่เกิน 1,800 จุด หรือเกินเพียงเล็กน้อยไปที่ 1,820 จุด

สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) คาดว่าตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นต่อได้จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง แต่ควรเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนรัฐบาลสหรัฐที่อาจเร่งตัวขึ้นจากความกังวลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐที่มากกว่าคาด และความผันผวนของนโยบายการเงินทั้งในสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น ที่หลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณการใช้นโยบายที่ตึงตัวมากขึ้น กดดันสภาพคล่องทั่วโลกให้ลดลง รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยและโอกาสในการแทรกแซงค่าเงินบาทหลังทำจุดแข็งสุดในรอบ 5 ปี

ดังนั้น จึงแนะนำเน้นหุ้นที่ปรับอัตราการทำกำไรเพิ่มขึ้นได้ และหุ้นที่ได้อานิสงส์บวกจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว รวมถึงหุ้นที่คาดว่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วโดยในไตรมาส 2 แนะนำหุ้นบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ (MAJOR)

ไตรมาสแรกที่ผ่านมาดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นดีกว่าหุ้นภูมิภาคเอเชียโดยให้ผลตอบแทน 4.4% เทียบกลุ่ม TIP คือ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่เพิ่มขึ้น 3.8% และ -1% ตามลำดับ สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยที่มีสัญญาณฟื้นตัวโดยประเมินเศรษฐกิจไทยจะเติบโตปีนี้ 4% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่เพิ่มขึ้น 3.9%

ตั้งแต่ต้นปี 2561 เงินทุนต่างชาติยังขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง 1,300 ล้านดอลลาร์ แต่ซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตรกว่า 2,400 ล้านดอลลาร์ คล้ายกับช่วงปี 2560 ที่ต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตรสูง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย

ดังนั้น ความเสี่ยงจากแรงขายของต่างชาติในช่วงถัดไปจะกระทบหุ้นไทยน้อย เพราะสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของต่างชาติมีเพียง 29.28% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด นับว่าต่ำมากเทียบค่าเฉลี่ยในอดีต