posttoday

"สมชัย สูงสว่าง" บุญเติมหนุนคนเข้าถึงการเงิน

16 เมษายน 2561

"บุญเติม"มุ่งเน้นให้บริการคนในชนบทที่องค์กรใหญ่รวมทั้งธนาคารลงไปไม่ถึง มีส่วนสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงิน ช่วยปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

"บุญเติม"มุ่งเน้นให้บริการคนในชนบทที่องค์กรใหญ่รวมทั้งธนาคารลงไปไม่ถึง มีส่วนสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงิน ช่วยปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

**************************

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกกฎเปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์ตั้งตัวแทนให้บริการ (แบงก์กิ้ง เอเย่นต์) ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต นอกจากร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า จะเป็นมือวางอันดับต้นในการเป็นแบงก์กิ้งเอเย่นต์แล้ว ยังมีผู้เนื้อหอมอีกหนึ่งรายที่ส่อเค้าเป็นเอเย่นต์ให้ธนาคารต่างๆ นั่นคือ “บุญเติม”

บุญเติมหนุนระบบแบงก์

สมชัย สูงสว่าง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส เจ้าของธุรกิจตู้บุญเติม กล่าวว่า บุญเติมเป็นแบงก์กิ้งเอเย่นต์มาสักพักแล้วตั้งแต่ช่วงที่ต้องขออนุญาต โดยมี 2 ธนาคารที่ใช้บุญเติม คือ กรุงไทย และกสิกรไทย ซึ่งเข้ามาเป็นพันธมิตรเมื่อปี 2559 เป็นบริการฝากหรือโอนเงินเข้าบัญชี ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการดังกล่าว พบว่า ยอดธุรกรรมเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่ามีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำรายการละ 30 บาทก็ตาม แบ่งเป็น ให้ธนาคาร 10 บาท และบุญเติมได้ 20 บาท

ปริมาณธุรกรรมโอนเงินผ่านบุญเติมเดือน เม.ย. 2559 เดือนแรกที่ให้บริการ มี 2.73 หมื่นรายการ เฉลี่ย 910 รายการ/วัน มูลค่า 21.6 ล้านบาท ล่าสุด สิ้นเดือน มี.ค. 2561 มีปริมาณธุรกรรม 8.46 แสนรายการ เฉลี่ย 2.7 หมื่นรายการ/วัน มูลค่ากว่า 581 ล้านบาท เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในเวลาเกือบ 2 ปี และยังเห็นแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 1 เม.ย. เพียงวันเดียวมีธุรกรรมกว่า 3 หมื่นรายการ

ทั้งนี้ บุญเติมไม่ได้มองธนาคารเป็นคู่แข่ง แต่ทั้งสองฝ่ายเป็นพันธมิตรที่เติมเต็มให้กัน โดยล่าสุด จะมีอีก 3 ธนาคารเป็นพันธมิตรเพิ่มเติม ได้แก่ ไทยพาณิชย์ กรุงเทพ และกรุงศรีอยุธยา เพื่อให้บริการโอนเงินหรือฝากเงินเข้าบัญชีผ่านตู้บุญเติมได้ เป็นการตอบโจทย์ของธนาคาร สามารถมีช่องทางให้ลูกค้าที่อยู่ห่างไกลเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเปิดสาขา

บุญเติมลดเหลื่อมล้ำ ยุคแคชเลส

สมชัย กล่าวว่า ลูกค้าหลักของบุญเติมคือผู้มีรายได้น้อย ผู้ที่อยู่ห่างไกล ผู้ที่มีรายได้เป็นเงินสด ผู้ไม่ถนัดการทำธุรกรรมดิจิทัลหรือโมบายแบงก์กิ้ง ซึ่งบุญเติมได้เพิ่มความสะดวกให้แก่คนกลุ่มดังกล่าว เห็นได้จากการกระจายตู้บุญเติม ส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัด นอกเมืองพื้นที่ห่างไกล ที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องเสียเงินและเสียเวลาเดินทางเข้าเมืองเพื่อทำธุรกรรม เช่น การจ่ายบิล ซึ่งปกติมีการใช้คนเดินเก็บเงินตามบ้านรวบรวมให้หน่วยงานสาธารณูปโภคทีเดียว แต่ขณะนี้ สามารถจ่ายได้ที่ตู้บุญเติม และชำระบิลย้อนหลังได้อีกด้วย

ธุรกรรมบนตู้บุญเติมมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการเติมเงินมือถือ คิดเป็น 50-60% ของจำนวนธุรกรรมทั้งหมด 2-3 ล้านรายการ/วัน โดยเป็นยอดเงินน้อยหลักสิบบาท สะท้อนพฤติกรรมลูกค้าเมื่อมีรายได้จึงมาเติมเงิน ส่งผลให้ส่วนแบ่งเติมเงินมือถือผ่านบุญเติมอยู่ที่ 22% ของมูลค่าตลาดรวม 3.2 หมื่นล้านบาท มีฐานลูกค้าเติมเงิน 25 ล้านเลขหมายจากทั้งระบบพรีเพดที่มี 70 ล้านเลขหมาย

“นโยบายรัฐบาลส่งเสริมให้เป็นสังคมไร้เงินสด (แคชเลส) นั้น ไม่กังวลเลยว่าจะกระทบธุรกิจเราที่ใช้เงินสด ขอให้คนไทยหายจนก่อน กลุ่มเป้าหมายเราเป็นฐานราก มีรายได้น้อย ส่วนคนใช้โมบายแบงก์กิ้งมักเป็นคนชั้นกลางขึ้นไปส่วนตัวเชื่อว่ามีช่องว่างอีกมากที่ให้เราเข้าไปเติมเต็ม” สมชัย กล่าว

บุญเติมมุ่งสู่ดิจิทัล

แผนธุรกิจในระยะต่อไปมีหลายโครงการ อาทิ พัฒนาตู้บุญเติมให้เป็นแพลตฟอร์มรับเงินสดที่ดีที่สุด ซึ่งปัจจุบันรองรับธุรกรรมกว่า 70 ประเภท โดยลูกค้าสามารถทำรายการตู้ใดก็ได้ ไม่ผูกมัด และทอนเงินเป็นเครดิตได้

การพัฒนาแพลตฟอร์มที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งสามารถกระจายการวางเครื่องชาร์จที่ใดก็ได้ และชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด บี วอลเล็ต ลักษณะธุรกิจเป็นส่วนแบ่งเจ้าของสถานที่และเจ้าของเครื่อง ซึ่งขณะนี้ได้ทำเครื่องต้นแบบและทดสอบระบบแล้ว

บริษัทได้ขออนุญาต ธปท.เป็นสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นันแบงก์) ที่ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในชื่อ “บี วอลเล็ต” (Bee Wallet) รองรับกลุ่มคนรุ่นใหม่นักเรียนนักศึกษา ที่อยากใช้ของใหม่ รวมทั้งลูกจ้างรายวันที่รายได้ไม่แน่นอน ไม่มีบัญชีธนาคารก็มาใช้วอลเล็ตแทน

อี-มาร์เก็ตเพลส เตรียมขึ้นระบบปีนี้ ด้วยความที่บุญเติมเข้าถึงฐานรากทำให้มีข้อมูล (ดาต้า) มหาศาล เห็นลูกค้าหลายรายมีอาชีพเสริมขายสินค้านานาชนิด โดยเฉพาะของท้องถิ่น เป็นแนวคิดที่อยากทำช่องทางขายให้ลูกค้ากลุ่มนี้ผ่านเว็บและจอดิจิทัลบนตู้ที่มีคนเห็น 2 ล้านคน เชื่อมโยงการใช้บี วอลเล็ตทำรายการ ที่จะได้สิทธิประโยชน์ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ

“ยังขยายบริการเติมเงินไปเมียนมา รองรับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในไทยต้องการส่งเงินกลับประเทศผ่านการเติมเงินมือถือให้คนทางบ้าน รวมทั้งกำลังทบทวนการขายประกันผ่านตู้บุญเติมอีกครั้ง หลังจากที่เคยมีและยกเลิกไปแล้ว” สมชัย กล่าว

บุญเติมอยากเพิ่มแชร์เติมเงิน

สมชัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีตู้บุญเติมทั่วประเทศ 1.24 แสนตู้ กว่า 90% อยู่ต่างจังหวัด ส่วนแบ่งตลาดตู้เติมเงินอยู่ที่ 55% จากคู่แข่งที่ทำธุรกิจคล้ายกัน 20 ราย โดยปีนี้ตั้งเป้าขยายตู้เพิ่มอีก 2 หมื่นตัว ซึ่งธุรกรรมใหญ่ที่สุดคือการเติมเงินนั้น ต้องการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดอีก 3-5% จากปีที่แล้วบุญเติมมีส่วนแบ่ง 22% มูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท พร้อมตั้งเป้ารายได้เติบโต 15-20% ผู้ใช้บี วอลเล็ตสิ้นปี 2 แสนราย จากที่มี 2 หมื่นรายในปัจจุบัน

เมื่อแบ่งการใช้บริการแต่ละประเภท พบว่า เป็นการเติมเงินเฉลี่ย 40 บาท/รายการ ฝากธนาคารเฉลี่ย 680 บาท/รายการ จ่ายบิล700 บาท/รายการ ยกเว้นจ่ายค่าไฟเพิ่งเริ่มเมื่อปลายปี 2560 ยังคำนวณธุรกรรมเฉลี่ยได้ยาก นอกจากนี้ ยังมีบริการร่วมกับรัฐ ทั้งจ่ายเงินประกันสังคม และกำลังขยายไปสู่การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) อีกด้วย

ขณะเดียวกัน บุญเติมมีโมเดลธุรกิจที่เป็นมิตรกับคู่ค้า มีตัวแทน 100 รายทั่วประเทศ โดยผู้ที่เป็นแฟรนไชส์มีผลตอบแทน 3.5% ต่อตู้ต่อเดือน แต่ต้องมีรายได้ต่อเนื่องตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งมีค่าแรกเข้าประมาณ 1.2 หมื่นบาท พร้อมกับเป็นพันธมิตรที่ดีกับองค์กรต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรพันธมิตร 70-80 บริการ และพันธมิตรสถานที่ 10-20 ราย

เห็นได้ว่า บุญเติมมุ่งเน้นให้บริการคนในชนบทที่องค์กรใหญ่รวมทั้งธนาคารลงไปไม่ถึง มีส่วนสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงิน ช่วยปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำได้ทางหนึ่ง