posttoday

ธปท.มั่นใจศก.ไทยแกร่ง รับมือ3ปัจจัยเสี่ยงค่าเงิน การค้า เทคโนโลยี ยันไม่แทรกแซงค่าเงินเพื่อการค้า

10 เมษายน 2561

ธปท.จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ ห่วงสงครามการค้า แจงไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อ เอาเปรียบการค้า

ธปท.จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ ห่วงสงครามการค้า แจงไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อ เอาเปรียบการค้า

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กรณีที่สหรัฐระบุว่าจะประกาศบัญชีเฝ้าระวังประเทศที่แทรกแซงค่าเงินเพื่ออุดหนุนการส่งออกในช่วงกลางเดือน เม.ย.นี้ ว่า ธปท.จะติดตามรายงานของสหรัฐว่าเป็นอย่างไร แต่ที่ผ่านมาไทยได้หารือกับกระทรวงการคลังของสหรัฐมาอย่างต่อเนื่อง และชี้แจงมาตลอดว่าไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าหรือเพื่อเพิ่มความได้เปรียบทางการค้า แต่การแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อดูแลเสถียรภาพของค่าเงิน หลังจากมีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศในปริมาณค่อนข้างมาก จึงไม่ต้องการให้กระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเชื่อว่าสหรัฐจะเข้าใจ เนื่องจากไทยเป็นประเทศพันธมิตรที่มีการค้ากันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้าเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยง 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.ความเสี่ยงด้านความผันผวนตลาดเงินตลาดทุนที่มีเพิ่มขึ้น โดยปรับฐานแรงและบ่อยครั้งมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการลงทุน ราคาสินค้า อัตราแลกเปลี่ยน 2.ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจการค้าสหรัฐ ซึ่งให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจในประเทศตัวเองมากขึ้น และอาจทำให้เกิดสงครามการค้า หากส่งผลรุนแรงมากขึ้นจะเป็นความเสี่ยงที่ประเมินได้ยาก และ 3.การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วอาจจะกระทบภาคการผลิตและผู้ประกอบการที่ยังไม่สามารถปรับตัวได้

สำหรับไทยมีกันชนปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศดี หนี้ต่างประเทศของรัฐและเอกชนรวมกัน 35% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศเกิดใหม่ สภาพคล่องดี เกินดุลบัญชีเดินสะพัด 10.6% ของจีดีพี เงินสำรองระหว่างประเทศ 2.49 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สูง 3.9 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และ 1.6 เท่าของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด

นายวิรไท กล่าวว่า แต่ละประเทศมี นโยบายการเงินต่างกันมากขึ้นตามโจทย์ที่เจอ ซึ่งประเทศอุตสาหกรรมหลักเริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติมากขึ้นจากเดิมผ่อนคลาย ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องชั่งน้ำหนักผลบวกและลบมากขึ้นในการปรับนโยบายการเงินของไทยสู่ภาวะปกติ เพราะหากขึ้นดอกเบี้ยเร็วไปอาจกระทบการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าขึ้นช้าไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อความเปราะบางของเศรษฐกิจระยะยาว