posttoday

ธปท.แนะติดตามเศรษฐกิจโลก-ไทยเพื่อการลงทุนที่เหมาะสม

09 เมษายน 2561

ธปท. แนะติดตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลกและไทยใกล้ชิดเพื่อปรับตัว วางแผนธุรกิจ-ลงทุนเหมาะสม

ธปท. แนะติดตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลกและไทยใกล้ชิดเพื่อปรับตัว วางแผนธุรกิจ-ลงทุนเหมาะสม

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย นัยต่อการดาเนินนโยบายการเงินปี 2561 ในงานสัมมนาเดอะ วิซดอม เดอะซิมโบล ออฟ ยัวร์ วิชันนารี : ก้าวทันเศรษฐกิจ ก้าวนาการลงทุน ปี 2018” ซึ่งจัดโดยธนาคารกสิกรไทย ว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายทางเศรษฐกิจการเงินใหม่ๆ มากมาย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เพื่อให้ประเมินผลกระทบและความเสี่ยง เตรียมพร้อมปรับตัว วางแผนธุรกิจและการลงทุนได้อย่างเหมาะสม ทันการณ์

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัวดีต่อเนื่อง ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับประมาณการณ์การเติบโตเศรษฐกิจปีนี้จาก 3.9% เป็น 4.1% และมองปีหน้าเติบโตต่อเนื่อง 4.1% แต่หลายคนยังสงสัยว่า เหตุใดเศรษฐกิจดีแต่ประชาชนไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นจริง ยังเห็นว่าการค้าขายในหลายพื้นที่ทรงๆ ตัว คนไม่จับจ่ายใช้สอยมากเหมือนเวลาที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีรอบก่อนๆ ประชาชนไม่รู้สึกว่ารายได้และกำลังซื้อดีขึ้นเหมือนภาพใหญ่ในระดับประเทศ ซึ่งมองว่า อาการเหล่านี้สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทย อาจกำลังเผชิญความท้าทายเชิงโครงสร้าง ส่งผลให้อานิสงส์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกระจายไม่ทั่วถึง

ความท้าทายเชิงโครงสร้างนั้น มีอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ โครงสร้างประชากรที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ จำนวนประชากรวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ทำให้แรงงานเหล่านั้นมีผลิตภาพการทำงานลดลง ส่งผลให้รายได้แรงงานกลุ่มนี้ต่ำลงด้วย นอกจากนี้ ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ

ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดแรงงาน แม้อัตราว่างงานของไทยยังต่ำต่อเนื่อง แต่การจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตไม่เพิ่มขึ้น จากสาเหตุทั้งแรงงานไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ แรงงานมีทักษะไม่ตรงความต้องการ และค่าแรงมีแนวโน้มเพิ่ม ทำให้ธุรกิจลงทุนเครื่องจักรและหุ่นยนต์ทดแทนใช้แรงงานมากขึ้น ส่วนแรงงานกลุ่มที่มีทักษะไม่ตรงความต้องการภาคการผลิตอุตสาหกรรมต้องย้ายสู่ภาคบริการ ซึ่งส่วนใหญ่กระจุกในธุรกิจบริการที่ไม่ได้มีผลิตภาพสูง เช่น เป็นลูกจ้างรายวันโรงแรมและร้านอาหาร ทำให้รายได้คนกลุ่มนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเท่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ และประการที่สาม หนี้ครัวเรือนที่สะสมมาจากอดีตยังสูง กระทบกำลังซื้อประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ