posttoday

ซีไอเอ็มบี ไทย ชี้เลื่อนเลือกตั้งฉุดจีดีพี

09 เมษายน 2561

ซีไอเอ็มบี ไทย สวนกระแส หั่นจีดีพีลงเหลือ 3.7% จากการเลื่อนเลือกตั้ง ทำความเชื่อมั่นสั่นคลอน

ซีไอเอ็มบี ไทย สวนกระแส หั่นจีดีพีลงเหลือ 3.7% จากการเลื่อนเลือกตั้ง ทำความเชื่อมั่นสั่นคลอน

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ได้ปรับประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ปี 2561 ลงมาที่ 3.7% จากเดิม 4% จากความเป็นไปได้ที่จะเลื่อนการเลือกตั้งจากปลายปีนี้ไปเป็นปีหน้า ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการรอบที่แล้วที่มองว่าหากไม่มีการเลือกตั้ง เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในกรอบ 3.5-3.8%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยปี 2561 ยังคงเติบโตจากภาคการส่งออกและท่องเที่ยวเป็นหลักเช่นเดิม ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังโตช้า เช่นเดียวกับการบริโภคภาคเอกชนที่ผู้บริโภครอดูสถานการณ์ก่อนใช้จ่ายสินค้าคงทน การลงทุนและการเบิกจ่ายภาครัฐช้ากว่าที่คาดการณ์ ที่น่าเป็นห่วงคือ ภาคเกษตรและเอสเอ็มอีในภูมิภาคฟื้นตัวช้าอยู่

“โอกาสที่จะได้เห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตเหนือ 4% ยังมีอยู่ ตัวแปรสำคัญคือ รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและผู้บริโภคว่า นโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจต่างๆ จะถูกสานต่อไปยังรัฐบาลชุดต่อไปโดยไม่หยุดชะงัก อีกทั้งต้องเร่งกระจายรายได้ สร้างการเติบโตทางกิจกรรมเศรษฐกิจในระดับฐานรากด้วย” นายอมรเทพ กล่าว

ซีไอเอ็มบี ไทย ชี้เลื่อนเลือกตั้งฉุดจีดีพี


สำหรับค่าเงินบาทแนวโน้มแข็งค่าอยู่ในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้าโดยเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00 - 31.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ มาจากความไม่แน่นอนของทิศทางการคลังสหรัฐ แม้ตลาดคาดว่าปีนี้เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งก็ตาม แต่มองว่าปลายปีที่ทิศทางการคลังสหรัฐชัดเจน ตลาดให้น้ำหนักกับดอกเบี้ยสหรัฐ มีโอกาสที่เงินจะไหลออก ทำให้ค่าบาทสิ้นปีอ่อนค่าแตะ 32 บาท/ดอลลาร์

ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ1.5% ถึงสิ้นปี แต่ปลายปีจะเห็นแรงกดดันการขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น จากเงินเฟ้อ เศรษฐกิจ และเงินไหลออก ดอกเบี้ยไทยน่าจะปรับขึ้นในไตรมาสแรกปี 2562 สิ่งสำคัญคือ กนง.ต้องส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นให้ชัด เพราะเป็นห่วงนักลงทุนอาจโยกเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเกินตัวระหว่างรอสัญญาณจากกนง.

ซีไอเอ็มบี ไทย ชี้เลื่อนเลือกตั้งฉุดจีดีพี

นายอมรเทพ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีสงคราม 9 ทิศ หรือปัจจัยเสี่ยง 9 ด้านรุมเร้า ได้แก่ 1.สงครามทางทหารจากความตึงเครียดระหว่างประเทศกดดันบรรยากาศการลงทุนท่องเที่ยวและทำให้เงินทุนผันผวน 2.สงครามการค้าที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อลดการขาดดุลการถูกตอบโต้จากคู่ค้า กระทบส่งออกไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมจากไทยเป็นซัพพลายเชนของโลก 3.สงครามค่าเงินประเทศใหญ่ทำให้ค่าเงินตัวเองอ่อนลงเพื่อช่วยผู้ส่งออก กระทบไทยที่ต้องเผชิญเงินบาทแข็งค่า

4.สงครามภาษี ที่ประเทศต่างๆ ได้ประกาศลดภาษีเพื่อจูงใจนักลงทุน ซึ่งรวมถึงไทยด้วย แต่ไทยไม่ควรแข่งเพียงลดภาษีแต่ต้องพัฒนาพื้นฐาน เช่น แรงงานฝีมือ กฎระเบียบ ด้วย 5.สงครามจิตวิทยา ที่ประธานาธิบดีสหรัฐทำมาตลอด ทำให้คาดเดาแนวโน้มยาก 6.สงครามก่อการร้าย ผู้กระทำมีจุดประสงค์ให้คนหวาดกลัว กดดันบรรยากาศเศรษฐกิจ

7.สงครามชนชั้น เห็นจากเศรษฐกิจไทยเติบโตแบบเหลื่อมล้ำ ผู้ได้ประโยชน์คือธุรกิจใหญ่และผู้มีรายได้สูง แต่เอสเอ็มอีและคนฐานรากยังมีปัญหา อยากเห็นนโยบายกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตแบบกระจายมากกว่านี้ 8.สงครามวัย จากสังคมผู้สูงอายุที่กระทบต่อทั้งภาษี แรงงาน และโครงสร้าง 9.สงครามกวาดล้างทุจริต อยากเห็นความจริงจัง ไม่เช่นนั้นจะเป็นเนื้อร้ายเกาะกินสังคมและเศรษฐกิจ