posttoday

รีดแวตอีคอมเมิร์ซ

09 เมษายน 2561

สรรพากรเร่งเครื่องชงครม.ออกกฎหมายภาษีอี-คอมเมิร์ซชุดใหญ่ เก็บแวตไม่เว้นสินค้านำเข้าทางพัสดุต่ำกว่า 1,500 บาท ด้าน อคส.เปิดรับฝากของออนไลน์

สรรพากรเร่งเครื่องชงครม.ออกกฎหมายภาษีอี-คอมเมิร์ซชุดใหญ่ เก็บแวตไม่เว้นสินค้านำเข้าทางพัสดุต่ำกว่า 1,500 บาท ด้าน อคส.เปิดรับฝากของออนไลน์ 

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเก็บภาษีจากผู้ประกอบการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ ให้กระทรวงการคลังพิจารณา เห็นชอบ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในเร็วๆ นี้ โดยแยกออกเป็น 3 ฉบับ โดยฉบับแรกเป็นการยกเลิกการเว้นเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวต จากการส่งสินค้าเข้าประเทศผ่านทางพัสดุมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ซึ่งจากนี้ไปสินค้าที่ซื้อผ่านออนไลน์และนำเข้ามายังประเทศจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย จากเดิมที่ราคาไม่เกิน 1,500 บาท จะได้รับยกเว้น

ขณะที่ฉบับที่สอง จะเป็นเรื่องการให้ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ เสียภาษีแวต ซึ่งกรมสรรพากรแก้กฎหมายประมวลรัษฎากรให้อี-คอมเมิร์ซในไทยเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการต่างประเทศ โดยจะให้ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินของรัฐ และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ รายงานการทำธุรกรรมการเงินของลูกค้าให้กรมสรรพากรรับทราบ สำหรับการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้ง/ปี และการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้ง และมียอดรวมของกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป

"ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ ในประเทศต้องปรับตัวเสียภาษีให้ถูกต้อง เนื่องจากผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซต่างประเทศมีเข้ามาจำนวนมาก การจะแข่งโดยหวังได้เปรียบไม่เสียภาษีและไม่ปรับปรุงตัวเอง จะทำให้อนาคตแข่งกับอี-คอมเมิร์ซจากต่างประเทศไม่ได้" นายประสงค์ กล่าว

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่สาม เป็นเรื่องให้ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซเสียภาษี โดยกำหนดให้เก็บภาษีกับผู้ประกอบการนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดรายได้ในประเทศไทย เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูบ ไลน์ เป็นต้น จะมีการกำหนดอัตราเพดานสูงสุดไว้หักที่จ่ายไม่เกิน 15% โดยผู้จ่ายเงินเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษีและนำส่งให้กรมสรรพากร

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มประสิทธิ ภาพเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซทั้งหมด เพื่อปรับการทำงานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยธุรกิจอี-คอมเมิร์ซจะมาแทนที่การค้าปลีกระบบเดิมที่ต้องมี ร้านค้าจำหน่าย จากสถิติปีที่ผ่านมาธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซขยายตัวเพิ่มขึ้น 20-30% ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจจำนวนมากปรับกลยุทธ์ไปจับมือกับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และบางรายก็ปรับตัวเองเป็นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเพื่อรักษาและเพิ่มยอดการขายสินค้า ซึ่งมีจำนวนมากที่ยังอยู่นอกระบบภาษี ทำให้รัฐสูญเงินภาษีที่ควรเก็บได้เป็นจำนวนมาก

นายไพศาล เตี๋ยวงษ์สุวรรณ์ รองผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า(อคส.)กล่าวว่า ขณะนี้ อคส.ได้จัดทำแผนเพิ่มรายได้ โดยจะใช้ประโยชน์จากคลังสินค้าที่มีอยู่ โดยจะปรับปรุงคลังสินค้าที่ราษฎร์บูรณะ ให้เป็นสถานที่เก็บสินค้าสำหรับผู้ประกอบการที่ค้าขายออนไลน์ หรือผู้ประกอบการทั่วไปที่ต้องการหาสถานที่เก็บสินค้าก่อนการจำหน่าย ซึ่งสินค้าที่จะนำมาฝากเก็บจะเป็นสินค้าที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศ หรือผลิตโดยโรงงานก็ได้ อคส.พร้อมที่จะให้บริการไปรับและนำมาเก็บไว้ในสต๊อกให้

ทั้งนี้ หลังจากที่เก็บในสต๊อกแล้วหากผู้ค้าออนไลน์หรือผู้ประกอบการที่นำมาฝากเก็บขายสินค้าได้ก็ให้แจ้งข้อมูลมา ซึ่ง อคส.พร้อมที่จะจัดการหีบห่อสินค้าและจัดส่งไปยังลูกค้าให้ทันที ซึ่งอาจจะทำผ่านแอพพลิเคชั่น โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้