posttoday

ตั้งสถาบันบังคับคดี

06 เมษายน 2561

กรมบังคับคดีปิ๊ง ตั้งสถาบันพัฒนาการบังคับคดี ยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ ก่อนโอนงานพิทักษ์ทรัพย์ให้เอกชนดำเนินการ

กรมบังคับคดีปิ๊ง ตั้งสถาบันพัฒนาการบังคับคดี ยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ ก่อนโอนงานพิทักษ์ทรัพย์ให้เอกชนดำเนินการ

น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า กรมบังคับคดีเตรียมที่จะจัดตั้งสถาบันพัฒนาการบังคับคดี ซึ่งแยกเป็นองค์กรอิสระ เพื่อทำหน้าที่พัฒนาฝึกอบรมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งรองรับในอนาคต กรมบังคับคดีจะให้เอกชนเข้ามาดำเนินการพิทักษ์ทรัพย์แทนเฉพาะคดีล้มละลายเท่านั้น ในขณะเดียวกันกรมจะยกระดับเป็นองค์กรกำกับแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะยกร่างกฎหมายและรายละเอียดทั้งหมดเสร็จประมาณเดือน มิ.ย.นี้ และจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น

ทั้งนี้ สถาบันดังกล่าวฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ทนายความ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งต่อไปพนักงานเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์จะต้องผ่านการฝึกอบรมและจะต้องได้รับใบอนุญาตหรือไลเซนส์ด้วย เนื่องจากหากมีการถ่ายโอนงานและอำนาจให้เอกชนทำแทนนั้น จะต้องเข้มงวดและมีมาตรฐานที่ดีสามารถตรวจสอบได้

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันในต่างประเทศได้มีการใช้เจ้าหน้าที่พิทักษ์เอกชนกัน แล้ว เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ซึ่งกรมจะเชิญตัวแทนจากต่างประเทศมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงไทยจะเสนอแนวคิดนี้ต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่บังคับคดีในระดับอาเซียน ที่ไทยเป็นเจ้าภาพประมาณเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้

น.ส.รื่นวดี กล่าวว่า ปัจจุบันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ของกรมบังคับคดี 1 คน จะต้องรับผิดชอบดูแลคดี 90-120 คดี และมีอัตราการติดตามหนี้คืนได้ 68% ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเจ้าหน้าที่ 1 คน ดูแลคดี 5 คดี และมีความสามารถ ที่จะติดตามทรัพย์สินคืนเจ้าหนี้ได้กว่า 92% ติดอันดับ 1 ของการจัดอันดับของธนาคารโลก ซึ่งการพัฒนาเจ้าพนักงานพิทักษ์เอกชนนั้นจะเป็นการเพิ่มประสิทธิการทำงานและมีผลต่อการยกอันดับความยากง่ายการทำธุรกิจที่จัดอันดับโดยธนาคารโลกด้วย

"ปัจจุบันมีคดีล้มละลายประมาณ 4-5 หมื่นคดี ซึ่งดูเหมือนกับแนวโน้มคดีล้มละลายลดลง ในขณะที่แต่ละคดีมีจำนวนรายละเอียดค่อนข้างมาก และมีความลึกซึ้งมากกว่าแต่ก่อน รวมทั้งมีเจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ดังนั้นจะต้องทำให้เจ้าพนักงานติดตามทรัพย์มีความรู้ความสามารถรอบด้าน และสามารถที่จะสืบสวนสอบสวนเชิงเศรษฐกิจการเงินได้" น.ส.รื่นวดี กล่าว

นอกจากนี้ จะมีการทบทวนการคิดอัตราค่าธรรมเนียมการพิทักษ์ทรัพย์ใหม่ให้สอดคล้องกับทุนทรัพย์ที่ติดตามได้ จากเดิมที่กำหนดอัตราตายตัว