posttoday

หนี้ครัวเรือนส่อเค้าเพิ่ม กลุ่มฐานราก

03 เมษายน 2561

ไทยพาณิชย์ห่วงหนี้ครัวเรือนเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาส 4 ปี 2560 เป็น 77.5% ต่อจีดีพี จากกลุ่มฐานราก

ไทยพาณิชย์ห่วงหนี้ครัวเรือนเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาส 4 ปี 2560 เป็น 77.5% ต่อจีดีพี จากกลุ่มฐานราก

นายยรรยง ไทยเจริญ รอง ผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะขยายตัวได้ดีขึ้น แต่ผู้มีรายได้น้อยถูกกดดันกำลังซื้อจากหนี้ครัวเรือนสูง ตั้งแต่ปี 2553-2558 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี โดยสูงสุดในไตรมาส 4 ปี 2558 ที่ระดับ 80.8% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

ทั้งนี้ ในปี 2559-2560 หนี้ครัวเรือนพักฐานจากความพยายามลดภาระหนี้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงต่ำสุดในไตรมาส 3 ปี 2560 ที่ระดับ 77.3% แต่ล่าสุดไตรมาส 4 ปี 2560 ขยับขึ้นมาอีกครั้งเป็น 77.5% โดยหนี้ครัวเรือนที่ลดลงมาจากผู้มีรายได้สูงใน กทม.และปริมณฑล แต่ผู้มีรายได้ น้อยในต่างจังหวัดภาระหนี้ทรงตัว และบางกลุ่มโดยเฉพาะเกษตรกรมีภาระหนี้สูงขึ้น

นอกจากนี้ แม้ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่พบว่าอัตราการว่างงานกลับเป็นขาขึ้น จากที่เคยอยู่ 0.8% เมื่อปี 2559 มาเป็น 1.3% ในสิ้นเดือน ก.พ. 2561 คิดเป็นการว่างงานเพิ่มเกือบ 5 แสนคน และจำนวนคนทำงานล่วงเวลาก็น้อยลง เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจากการที่อุตสาหกรรมนำเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงาน ขณะที่รายได้ภาคเกษตรส่อตกต่ำอีกปีจากยางพาราและอ้อย

"หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในปี 2561 คือการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตกระจุกตัว สะท้อนว่ามีความเหลื่อมล้ำการบริโภคระหว่างผู้มีรายได้สูงกับผู้มีรายได้น้อย" นายยรรยง กล่าว

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นไม่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นเรื่องปกติที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นทุกปี และสัดส่วนหนี้ที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย อาจเป็นเพราะจีดีพีเพิ่มขึ้นน้อยกว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากกลุ่มสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ และสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ของรัฐ (SFI) ซึ่งเชื่อว่ามีกลไกการดูแลคุณภาพสินเชื่ออยู่แล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพหนี้ ไม่ได้มาจาก นันแบงก์หรือกลุ่มสินเชื่อสหกรณ์

ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนในปี 2560 อยู่ที่ 11.97 ล้านล้านบาท หรือ 77.5% ของจีดีพี เพิ่มขึ้น 4.93 แสนล้านบาท หลักๆ มาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้แบงก์พาณิชย์ 2.15 แสนล้านบาท และ SFI จำนวน 1.33 แสนล้านบาท ส่วนหนี้สหกรณ์เพิ่มขึ้น 6.2 หมื่นล้านบาท นันแบงก์ 7.3 หมื่นล้านบาท

ภาพประกอบข่าว