posttoday

คลังดันธกส.ตั้งธนาคารที่ดิน

16 มีนาคม 2561

คลังหนุน ธ.ก.ส.ตั้งธนาคารที่ดินแยกเป็นฝ่ายพิเศษ เร่งมือเข้าช่วยเกษตรกรที่โดนนายทุนยึดที่ดิน เล็งเตรียมเสนอ ครม.

คลังหนุน ธ.ก.ส.ตั้งธนาคารที่ดินแยกเป็นฝ่ายพิเศษ เร่งมือเข้าช่วยเกษตรกรที่โดนนายทุนยึดที่ดิน เล็งเตรียมเสนอ ครม.

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เตรียมทำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการเรื่องการตั้งส่วนงานหรือหน่วยงานภายในองค์กร เพื่อดูแลเรื่องการจัดตั้งธนาคารที่ดิน เนื่องจาก ธ.ก.ส.มีความพร้อมในการดำเนินการเพราะมีสาขาครอบคลุมในทุกพื้นที่ จึงน่าที่จะทำโครงการนำร่องไประหว่างที่รอ พ.ร.บ.ที่ดินผ่านความเห็นชอบ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะใช้เวลาการดำเนินการโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 2 ปี กำหนดวงเงินเบื้องต้นในการจัดตั้งธนาคารที่ดินไว้ 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากหากจะแยกจัดตั้งเป็นสถาบันการเงินใหม่เลยนั้นอาจจะจัดตั้งได้ยาก และอาจจะใช้เวลานานกว่ากฎหมายจะแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ เบื้องต้นเตรียมเสนอของบประมาณในการจัดตั้งธนาคารที่ดิน นำมาตั้งเป็นกองทุนมีวงเงิน 500-1,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่กำลังจะสูญเสียที่ดินทำกิน หรืออยู่ระหว่างการถูกฟ้องร้องที่จะยึดทรัพย์ โดยจะให้เงินกู้เกษตรกรที่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด นำเงินไปไถ่ถอนที่ดินที่ติดจำนองกับนายทุน โดยจะปล่อยเงินกู้สูงไม่เกิน 2.5 ล้านบาท/ราย ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน แต่มีเงื่อนไขว่าเกษตรที่จะขอสินเชื่อดังกล่าวจะต้องเข้าโครงการอบรมฟื้นฟูอาชีพควบคู่กันไปด้วย

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า โครงการดังกล่าวจะต้องแยกบัญชีออกจากบัญชีปกติของธนาคาร คาดว่าจะเสนอแผนเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ได้ภายในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป หากทุกฝ่ายเห็นชอบ คาดว่า ธ.ก.ส.จะเริ่มจัดตั้งฝ่ายที่ทำเรื่องธนาคารที่ดินได้ภายใน 6 เดือนหลังจากนั้น

"คลังหารือ ธ.ก.ส.ว่าพร้อมมั้ยที่จะทำเรื่องธนาคารที่ดิน ธ.ก.ส. แจ้งมาว่าพร้อมดำเนินการแต่ต้องเสนอ ครม.เพื่อขอวงเงินมาตั้งกองทุนก่อนประมาณ 500-1,000 ล้านบาท" รายงานข่าวระบุ

รายงานข่าว ระบุอีกว่า จากสถิติเรื่องปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรมีทั้งหมด 149 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ 28% เป็นที่ดินทำกินของตัวเอง อีก 20% เป็นที่ดินติดจำนอง และขายฝาก ที่เหลืออีกราว 52% เป็นที่ดินเช่าทำกิน

นอกจากนี้ ยังพบว่าที่ดินเกษตรกร 2.2 ล้านครัวเรือน ที่มีปัญหาไม่มีที่ดินทำกินคิดเป็น 40% มีที่ดินแต่ไม่พอทำกินอีก 28% รุกล้ำที่ดิน 36.6% ซึ่งการเร่งแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินของตัวเองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของรัฐบาลด้วย