posttoday

คนไทยเริ่มลดใช้จ่ายด้วยเงินสด หันใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

12 มีนาคม 2561

ธปท.ชี้คนใช้ธนบัตรลดลง แนวโน้มธนบัตรไทยหมุนเวียนอายุยาวขึ้นรับกระแสสังคมไร้เงินสด

ธปท.ชี้คนใช้ธนบัตรลดลง แนวโน้มธนบัตรไทยหมุนเวียนอายุยาวขึ้นรับกระแสสังคมไร้เงินสด

นายวรพร ตั้งสง่าศักดิ์ศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การที่คนไทยเริ่มหันไปชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น ส่งผลให้ความถี่ในการเพิ่มธนบัตรหมุนเวียนเข้าสู่ระบบช้าลงเรื่อยๆ คาดว่าธนบัตรที่ใช้หมุนเวียนในระบบหลังจากนี้อาจจะมีอายุยาวขึ้นกว่าเดิมได้ โดยปัจจุบันอายุการหมุนเวียนธนบัตรเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ปี อย่างไรก็ตามอายุการใช้งานจะเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ ธปท.เริ่มเห็นการชะลอตัวของการใช้ธนบัตรมา 2-3 ปีแล้ว โดยเศรษฐกิจเติบโต การใช้เงินสดก็ยังเติบโตตาม แต่การที่คนไปใช้เงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ก็ทำให้การเติบโตของการใช้ธนบัตรช้าลง อย่างไรก็ดี แม้การใช้เงินสดจะลดลงบ้าง แต่ก็ไม่ได้ลดลงรวดเร็วนัก สะท้อนได้จาก ธปท.ก็ยังมีสัดส่วนการใส่ธนบัตรหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นอยู่ เพียงแต่เพิ่มในอัตราที่ลดลง

ขณะที่สัดส่วนการใช้เงินสดต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทย อยู่ที่ 10% ยังถือว่าเป็นประเทศที่การใช้เงินสดสูงอยู่ เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วที่ใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นจะมีการใช้เงินสดเหลือเพียง 2-3% ต่อจีดีพีเท่านั้น แต่ในอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะลดลงได้

“สัดส่วนการใช้เงินสดต่อจีดีพีขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของประชาชนในประเทศนั้นๆ ด้วย ซึ่งของไทยอยู่ที่ 10% ถือว่ายังเป็นประเทศที่ใช้เงินสดมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะใช้เงินสดน้อยทุกประเทศ เช่น ถ้าไปดูญี่ปุ่น สัดส่วนการใช้เงินสดของญี่ปุ่นก็สูงถึง 20% ต่อจีดีพี” นายวรพร กล่าว

ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณธนบัตรหมุนเวียนในระบบรายฉบับ 5,500 ล้านฉบับ คิดเป็นมูลค่าธนบัตรหมุนเวียน 1.6 ล้านล้านบาท

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า กรณี ธปท.จะนำธนบัตรแบบ 17 ออกใช้หมุนเวียนวันที่ 6 เม.ย.นี้ ทางด้านธนบัตรเดิมในระบบจะถูกดึงออกจากระบบก็ต่อเมื่อสภาพชำรุด คุณภาพเสื่อมโทรมและธนบัตรนั้นเข้าไปสู่ธนาคารพาณิชย์ จึงจะมีการนำส่งคืน ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 3 ปี