posttoday

กรมศุลปัดกม.ใหม่ ไม่ป่วนหิ้วสินค้าเข้าออก

09 มีนาคม 2561

กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ เกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตัวทางท่าอากาศยาน จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเดินทางออกไปต่างประเทศ

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกเสมือน จริงทางออนไลน์ เกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรของติดตัวผู้โดยสาร ที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตัวทาง ท่าอากาศยาน ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์พกพา กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์มือถือ นาฬิกา หรือของมีราคาแพงต่างๆ จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเดินทางออกไปต่างประเทศ

ความปั่นป่วนดังกล่าวเกิดจาก ประกาศที่ 60/2561 ลงวันที่ 26 ก.พ. 2561 แต่สาระในประกาศดังกล่าวมิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นแนวทางปฏิบัติที่กรมได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่เหตุที่ต้องนำมาออกประกาศกรมศุลกากรใหม่ เนื่องจากพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ถูกยกเลิก โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 จึงต้องมีการนำประกาศเก่ามาออกเป็นประกาศใหม่

ทั้งนี้ เนื้อหาของประกาศฉบับนี้มิได้กำหนดให้ผู้โดยสารทุกคนจะต้องนำสิ่งของไปแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเดินทางออกนอกประเทศ แต่วัตถุประสงค์ของประกาศฉบับนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่อาจมีสิ่งของที่ต้องนำไปต่างประเทศ เช่น เพื่อนำไปแสดงนิทรรศการ หรือเพื่อนำไปประกอบวิชาชีพ แล้วเกรงว่าหากนำของดังกล่าวกลับเข้ามาในประเทศ อาจถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ท่าอากาศยานตรวจพบและตั้งข้อสงสัยว่าของนั้นเป็นของที่เพิ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศและอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีอากร ทำให้ผู้โดยสารต้อง เสียเวลาหรือมีความยุ่งยากในการหาหลักฐานประกอบคำชี้แจง

ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว กรมศุลกากรจึงมีบริการเพื่อให้ผู้โดยสารสามารถที่จะไปพบเจ้าหน้าที่ก่อนเดินทางออกนอกประเทศเพื่อให้เจ้าหน้าที่บันทึกสิ่งของนั้นไว้เพื่อเป็นหลักฐาน และแสดงหลักฐานดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่เมื่อเดินทางกลับเข้าประเทศ การปฏิบัติดังกล่าวไม่ได้บังคับผู้โดยสาร ไม่มีบทลงโทษผู้โดยสาร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้โดยสารจะเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับตนเองหรือไม่

นอกจากนี้ โฆษกกรมศุลกากรได้ชี้แจงในกรณีที่ผู้โดยสารซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรขาออกและนำ ของนั้นกลับเข้าประเทศว่า หากนำของนั้นเข้ามาและของมีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 2 หมื่นบาท (เว้นแต่ สุรา บุหรี่ ซิการ์ และยาเส้น ซึ่งจะต้องเป็นไปตามปริมาณที่กำหนด) จะได้รับการยกเว้นค่าภาษีอากร แต่หากของนั้นมีมูลค่าเกินสองหมื่นบาท หรือนำเข้าสุรา บุหรี่ ซิการ์ และยาเส้น เข้ามาเกินปริมาณที่กำหนด หรือนำเข้ามาเพื่อการค้าแม้จะราคาไม่ถึงสองหมื่นบาท ก็ต้องเสียภาษีอากร

ชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดี รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า ระเบียบนี้ทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารบางกรณี เช่น มีความจำเป็นต้องนำอุปกรณ์กล้องจำนวนมากไปถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ หรือนำเครื่องเพชรไปจัดแสดงนิทรรศการ ก็สามารถแจ้งสิ่งของออกไปก่อน เพื่อที่เวลานำกลับเข้ามาจะได้ไม่ต้องเสียเวลาถูกตรวจสอบ หรือมาชี้แจงกับเจ้าหน้าที่อีก ข้อปฏิบัติดังกล่าวไม่ได้เป็นการบังคับ หรือมีบทลงโทษต่อผู้โดยสาร

ด้าน บุญเทียม โชควิวัฒน ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวว่า สถิติการแจ้งสำแดงของก่อนเดินทางออกไปต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2560-ปัจจุบัน มีจำนวนเล็กน้อยเพียง 82 คน หรือเฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 10 ราย และตั้งแต่มีกระแสข่าวดังกล่าวก็พบว่าการแจ้งสำแดงยังเป็นปกติมีเพียงแค่ 8 คน

ส่วนสถิติการตรวจจับผู้นำเข้าสินค้าเลี่ยงภาษี ส่วนใหญ่เป็นการจับกุมที่มูลค่าเกิน 2 แสนบาทขึ้นไป โดยเป็น กลุ่มสินค้าแฟชั่น รองเท้า นาฬิกา และของเลียนแบบ ซึ่งผู้กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นแม่ค้ารับพรีออร์เดอร์สินค้า แต่ไม่ได้จับกุมทุกวัน หรือเฉลี่ยจับกุมอย่างน้อยวันละ 1 ราย โดยเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบการนำเข้าสินค้ามูลค่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เจ้าหน้าที่สามารถยึดได้ทันทีหากผู้โดยสารไม่สามารถชี้แจงได้ แต่หากผู้โดยสารต้องการนำสินค้าเข้าประเทศ จะต้องเสียภาษีตามชนิดสินค้า อาทิ ภาษีเบ็ดเตล็ด จะต้องเสีย 30% ของมูลค่าสินค้า