posttoday

เจาะความหมายของธนบัตรแบบ 17 แต่ละชนิดราคา

08 มีนาคม 2561

รายละเอียดการออกแบบและความหมายของธนบัตรในรัชกาลที่10 เตรียมทยอยออกใช้ในเดือนเม.ย.นี้

รายละเอียดการออกแบบและความหมายของธนบัตรในรัชกาลที่10 เตรียมทยอยออกใช้ในเดือนเม.ย.นี้

ประชาชนคงจะได้เห็นธนบัตรแบบ 17 ที่เตรียมออกใช้วันที่ 6 เม.ย. นี้ 3 ชนิดราคา คือ  20 บาท 50 บาท และ 100 บาท รวมถึงที่เตรียมออกใช้วันที่ 28 ก.ค.2561 อีก 2 ชนิดราคา คือ 500 บาท และ 1,000 บาทแล้ว

เราจะขอนำภาพธนบัตรแต่ละชนิดราคา รวมถึงรายละเอียดการออกแบบมาขยายความให้ฟัง โดย ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อธิบายรายละเอียดการออกแบบธนบัตรไว้ว่า ธนบัตรแบบ 17 นี้ได้กำหนดให้รูปลักษณ์ของธนบัตรโดยรวมมีความต่อเนื่องกับธนบัตรแบบ 16 รูปลักษณ์ที่ยังเน้นความสวยงาม รักษาเอกลักษณ์ไทย โดยมีแนวคิดเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

ด้านหลังของธนบัตรแต่ละชนิดจึงเชิญพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ เรียงลำดับรัชกาลมาเป็นภาพประธาน โดยมีภาพประกอบเป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญของแต่ละพระองค์ ที่มีความโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ และจารึกอยู่ในความทรงจำของพสกนิกรชาวไทย รายละเอียดด้านหลังของธนบัตรแต่ละชนิดราคามีดังนี้

เจาะความหมายของธนบัตรแบบ 17 แต่ละชนิดราคา

เจาะความหมายของธนบัตรแบบ 17 แต่ละชนิดราคา

ชนิดราคา 20 บาท แสดงพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี คู่กับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยมีภาพประกอบแสดงถึงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 1 ที่ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างวัดศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ภาพประกอบที่แสดงถึงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 2 เป็นภาพจากบทละครเรื่องอิเหนาซึ่งสะท้อนถึงพระปรีชาสามารถในด้านวรรณคดีและพระราชกรณียกิจที่ทรงทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมแต่ละสาขาให้เจริญรุ่งเรือง

 

เจาะความหมายของธนบัตรแบบ 17 แต่ละชนิดราคา

เจาะความหมายของธนบัตรแบบ 17 แต่ละชนิดราคา

ชนิดราคา 50 บาท แสดงพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คู่กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีภาพประกอบแสดงถึงพระปรีชาสามารถของรัชกาลที่ 3 ในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้เจริญก้าวหน้า จนมีรายได้เข้าแผ่นดินเพิ่มขึ้นมาก สำหรับภาพประกอบที่แสดงถึงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 4 นั้น เป็นภาพหอชัชวาลเวียงชัย พระนครคีรี จ.เพชรบุรี ที่ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นหอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ สะท้อนถึงพระปรีชาสามารถในด้านวิทยาศาสตร์ และการวางรากฐานความเจริญก้าวหน้าในแบบอารยประเทศ

 

เจาะความหมายของธนบัตรแบบ 17 แต่ละชนิดราคา

เจาะความหมายของธนบัตรแบบ 17 แต่ละชนิดราคา

ชนิดราคา 100 บาท แสดงพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คู่กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีภาพประกอบที่แสดงถึงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประภาสยุโรปเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ยังผลให้ประเทศไทยสามารถรักษาเอกราชได้สืบมา ทั้งได้ทรงนำวิทยาการสมัยใหม่จากต่างประเทศมาพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองด้วย สำหรับภาพประกอบที่แสดงถึงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 6 นั้น เป็นภาพทรงฝึกกองเสือป่าที่ทรงสถาปนาขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งและความสามัคคีขึ้นในหมู่ราษฎรรวมทั้งเป็นกองกำลังสำรองในการป้องกันประเทศ

 

เจาะความหมายของธนบัตรแบบ 17 แต่ละชนิดราคา

 

 

เจาะความหมายของธนบัตรแบบ 17 แต่ละชนิดราคา

ชนิดราคา 500 บาท แสดงพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คู่กับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล โดยมีภาพประกอบแสดงถึงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 7 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ให้แก่ปวงชนชาวไทย สำหรับภาพประกอบที่แสดงถึงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 8 เป็นภาพการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่สำเพ็งเพื่อเสริมสร้างความสมานฉันท์ให้คนไทยทุกเชื้อชาติอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกกลมเกลียว

 

เจาะความหมายของธนบัตรแบบ 17 แต่ละชนิดราคา

เจาะความหมายของธนบัตรแบบ 17 แต่ละชนิดราคา

ชนิดราคา 1,000 บาท แสดงพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คู่กับพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โดยมีภาพประกอบแสดงถึงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 9 ขณะทรงรับดอกบัวจากราษฎร สะท้อนถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงอุทิศพระวรกายเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตลอดรัชกาล

 

สำหรับภาพประกอบที่แสดงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 10 เป็นภาพขณะทอดพระเนตรแผนที่ระหว่างเสด็จเยี่ยมราษฎรบริเวณโครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางนรา จ.นราธิวาส เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและบรรเทาภาวะน้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งสะท้อนถึงการประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของปวงผสกนิกรอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์จวบจนถึงปัจจุบัน