posttoday

สินเชื่อชะลอขายข้าวต่ำเป้า ธกส.แจงราคาดี เกษตรกรเมินใช้เงินกู้

08 มีนาคม 2561

ธ.ก.ส.เผยยอดสินเชื่อชะลอการขายปี 2560/2561 มีข้าวเข้าโครงการ 1.2 ล้านตัน คิดเป็นวงเงินเฉียด 1.3 หมื่นล้าน ต่ำกว่าเป้า

ธ.ก.ส.เผยยอดสินเชื่อชะลอการขายปี 2560/2561 มีข้าวเข้าโครงการ 1.2 ล้านตัน คิดเป็นวงเงินเฉียด 1.3 หมื่นล้าน ต่ำกว่าเป้า

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เปิดเผยถึงโครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2560/2561 ยอดล่าสุดว่ามีเกษตรกรเข้าโครงการ 2.02 แสนราย คิดเป็นปริมาณข้าวเปลือกกว่า 1.24 ล้านตัน คิดเป็นวงเงินที่ปล่อยสินเชื่อ 1.29 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับปีก่อนถือว่าปรับตัวลดเล็กน้อย โดยในปีการผลิต 2559/2560 มีเกษตรกรเข้าโครงการ 2.62 แสนราย คิดเป็นปริมาณข้าวเปลือกกว่า 1.58 ล้านตัน คิดเป็นวงเงินที่ปล่อยสินเชื่อ 1.45 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี ต้องรอเกษตรกรที่จะเข้ามาทำสัญญาในพื้นที่ภาคใต้ด้วย เพราะยังทำสัญญาถึงวันที่ 31 ก.ค. 2561 แต่ในส่วนของภาคกลางและอีสานได้ปิดโครงการไปแล้วเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2561 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขให้เกษตรกรที่เข้าโครงการต้องชำระสินเชื่อคืนภายใน 5 เดือน นับจากเดือนที่รับเงินกู้แยกเป็นวงเงินกู้เกษตรกรไม่เกิน 3 แสนบาท/ราย สหกรณ์ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ราย กลุ่มเกษตรกรไม่เกิน 20 ล้านบาท/ราย วิสาหกิจชุมชนไม่เกิน 5 ล้านบาท/ราย

"ถือว่าผู้ที่เข้าโครงการและปริมาณข้าวเปลือกน้อยกว่าเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากราคาข้าวเปลือกปีนี้มีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องนำข้าวเปลือกมาเข้าโครงการ เพื่อรอราคาปรับตัวสูงขึ้น"  นายอภิรมย์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส.ได้เสนอขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายมีปริมาณข้าวเปลือกเป้าหมายถึง 2 ล้านตัน คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 2.1 หมื่นล้านบาท กำหนดเงื่อนไขข้าวที่เข้าโครงการต้องมีความชื้นไม่เกิน 15% สิ่งเจือปนไม่เกิน 2% กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตันไม่เกิน 90% ของราคาตลาดคือ ข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวตันละ 1.08 หมื่นบาท ข้าวเจ้าตันละ 7,200 บาท และข้ามปทุมธานีตันละ 8,500 บาท

นอกจากนี้ เกษตรกรจะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวตันละ 1,500 บาท โดยจ่ายพร้อมสินเชื่อก่อนตันละ 1,000 บาท และจ่ายภายหลังนำเงินมาชำระหนี้อีกตันละ 500 บาท คิดเป็นวงเงินที่ต้องจ่ายเพื่อช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวอีก 4.72 หมื่นล้านบาท ซึ่งล่าสุดได้โอนเงินให้เกษตรกรไปแล้วกว่า 3.59 ล้านราย เป็นเงินกว่า 3.43 หมื่นล้านบาท

นายอภิรมย์ กล่าวว่า เกษตรกรที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีทั้งประเทศอยู่ที่ 4.5 ล้านราย โดยแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 2 จำนวน 3.7 ล้านราย ซึ่งใน จ.นครปฐม มีผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 97,912 คน

ทั้งนี้มีผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านระบบ ธ.ก.ส. แล้ว 3,788 คน โดย ธ.ก.ส.จะเน้นพัฒนาผู้มีรายได้น้อยตามอาชีพเดิมเป็นหลักก่อน คือ การทำการเกษตร โดยจะสนับสนุนการรวมกลุ่มแปรรูปผลผลิตและส่งต่อวัตถุดิบให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ และ ธ.ก.ส.จะเข้าสนับสนุนมาตรการทางด้านสินเชื่อ โดยไม่ต้องมีประกัน

ส่วนการพัฒนาอาชีพเสริม เช่น ทำธุรกิจ เฟรนไชน์ การฝึกฝีมือช่าง จะต้องมีการคัดกรองโดย AO หรือ ผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการอีกครั้ง และ จะให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมพัฒนาอาชีพตั้งแต่เดือน มี.ค.นี้เป็นต้นไป