posttoday

ครม.ขยายพื้นที่ธนาคารปูม้า อัดสินเชื่อดันรายได้2.5พันล.

07 มีนาคม 2561

ครม.ไฟเขียวขยาย เป้าหมายธนาคารปูม้าครอบคลุมจังหวัดชายฝั่งเป็น 500 แห่ง ดึงออมสินจัดสินเชื่อ ดันรายได้เดือนละ 2,500 ล้าน

ครม.ไฟเขียวขยาย เป้าหมายธนาคารปูม้าครอบคลุมจังหวัดชายฝั่งเป็น 500 แห่ง ดึงออมสินจัดสินเชื่อ ดันรายได้เดือนละ 2,500 ล้าน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ที่ จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2561  เห็นชอบการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทย

ทั้งนี้ คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เสนอให้มีการขยายโครงการธนาคารปูม้าจากปัจจุบันมีอยู่ 191 แห่ง ใน 20 จังหวัด ให้ครบ 500 แห่งทั่วประเทศ โดยให้ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับชุมชนชาวประมงทั้งในฝั่งอันดามันและอ่าวไทย วงเงิน 1.5-2 แสนบาท/ชุมชน เพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุปกรณ์ ซึ่งจะช่วยให้ชาวประมงมีรายได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากแต่ละชุมชนปล่อยไข่ปูม้าจากแม่ปู้ม้าได้เดือนละ 100 ตัว จะมีลูกปูม้าเพิ่มขึ้น 1 แสน-1 ล้านตัว จะทำให้แต่ละชุมชนมีรายได้จากการขายปูม้า 2.5 ล้านบาท/ชุมชน/เดือน คิดเป็นรายได้รวมกว่า 2,500 ล้านบาท/เดือน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของชาวบ้านที่เป็นเศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น

ขณะที่นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวถึงประกาศเตือนและการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในเรื่องพายุฤดูร้อนและอาจเกิดพายุลูกเห็บในหลายพื้นที่ กรมได้วางแผนปฏิบัติการสลายลูกเห็บในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือเข้ามาช่วยบูรณาการการเฝ้าระวังการเกิดลูกเห็บร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ด้านการแก้ปัญหาภัยแล้ง กรม ฝนหลวงฯ ได้รับแจ้งการขอรับบริการสนับสนุนฝนหลวงในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ พื้นที่ปลูกลำไยนอกเขตชลประทาน จำนวน 2 แสนไร่ บริเวณ อ.สอยดาว โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี พื้นที่ปลูกพืชผักและผลไม้ จำนวน 1,000 ไร่ บริเวณ อ.เมือง จ.ระยอง และพื้นที่ ปลูกมันสำปะหลัง 2,250 ไร่ อ้อยโรงงาน 1,000 ไร่ และหญ้าเนเปียร์ 1,000 ไร่ บริเวณ อ.อรัญประเทศ และวังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่เตรียมเครื่องจักรทั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนหากได้รับ ผลกระทบจากพายุฤดูแล้ง ซึ่งพบว่าใน หลายพื้นที่เริ่มขาดแคลนน้ำ และการผลิตประปาของ อ.เมือง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำดิบ เนื่องจากน้ำต้นทุนจากเขื่อน ปราณบุรี มีน้อยและต้องช่วยสำรองน้ำดิบให้กับประปาเพื่อผลิตส่งน้ำปีละอย่างน้อย 120 ล้านลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ ได้วางแผนการใช้น้ำของเมืองหัวหินให้รองรับการขยายตัวของเมืองและการท่องเที่ยวในระยะเวลา 20 ปี ข้างหน้าอีกด้วย โดยใช้โครงการผันน้ำเขื่อนเพชร-หัวหิน