posttoday

ซีไอเอ็มบีขึ้นชั้นแบงก์ขนาดกลางปี'65

06 มีนาคม 2561

ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เผยแผนปี 2561 เน้นเพิ่มประสิทธิภาพ สินเชื่อโตไม่ต่ำ 5% คุมเอ็นพีแอลต่ำ

ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เผยแผนปี 2561 เน้นเพิ่มประสิทธิภาพ สินเชื่อโตไม่ต่ำ 5% คุมเอ็นพีแอลต่ำ

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ทิศทางปี 2561 เน้นการปรับปรุงและสร้างรากฐานให้แข็งแกร่ง ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟาสต์ฟอร์เวิร์ด ตามเป้าหมายเป็นธนาคารขนาดกลางในปี 2565 ดังนั้น ปีนี้อาจไม่เห็นตัวเลขการเติบโตหวือหวา แต่จะเริ่มเห็นผลลัพธ์ที่ดีตั้งแต่กลางปี 2562 เป็นต้นไป

"หลายธนาคารเริ่มทรานส์ฟอร์ม ตัวเองแล้ว หากเราอยู่เฉยไม่เป็นผลดีกับแบงก์ เราต้องลดต้นทุน ทำให้คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น พูดง่ายๆ ทำน้ำหนักลดลงและมีกล้ามมากขึ้น" นายกิตติพันธ์ กล่าว

นายกิตติพันธ์ กล่าวอีกว่า ธนาคารขนาดกลางต้องมีกำไรก่อนหักสำรอง 1.2-1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งธนาคารจะลดอัตราต้นทุนต่อรายได้ (Cost to Income) ให้เหลือ 50% ขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา การขยายฐานรายย่อยเป็นที่น่าพอใจจากบริการเวลธ์และสินเชื่อ เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มความสามารถทำกำไร

สำหรับปี 2561 ตั้งเป้าหมายสินเชื่อเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% มาจากสินเชื่อรายย่อยจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และสินเชื่อเอสเอ็มอีที่กลับมารุกอีกครั้งหลังจากชะลอตัวเพื่อปรับกระบวนการภายใน ขณะที่สินเชื่อรายใหญ่มีการแข่งขันสูงอาจเติบโตได้ไม่มาก ต้องพยายามหาโอกาสใหม่ให้ลูกค้าขยายธุรกิจในอาเซียน

นายอาทิตย์ มาสถิรกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังต้องบริหารจัดการอย่างเข้มงวด หลังเห็นตัวเลขหนี้ที่จับตามองเป็นพิเศษ (เอสเอ็ม) สูงขึ้น ต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าและพร้อมขายออกหากได้ราคา ตั้งเป้าเอ็นพีแอลปีนี้ไม่เกิน 5% โดยเอ็นพีแอลเป็นสาเหตุหนึ่งที่กดดันอัตราสำรองต่อหนี้เสียของธนาคารอยู่ระดับต่ำ 93.2% ตั้งเป้าอัตราสำรอง 100% ในปีนี้ การทำให้อัตราสำรองเพิ่มขึ้น มี 2 ด้าน คือ จัดการเอ็นพีแอลไม่ให้เพิ่มขึ้น และมีกำไรมากขึ้นมาตั้งสำรองเพิ่ม โดยมีความท้าทายจากมาตรฐานการเงินไอเอฟอาร์เอส 9

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า จะเสริมดิจิทัลในด้านการปล่อยสินเชื่อ เพิ่มช่องทางให้ลูกค้า ส่วนแบงก์กิ้งเอเยนต์นั้น ธนาคารมี ความสนใจ เพราะเชื่อว่าส่งผลดีต่อธนาคารเล็กที่มีสาขาน้อยให้สามารถบริการลูกค้าในวงกว้างได้มากขึ้น ปัจจุบันธนาคารมี แบงก์กิ้งเอเยนต์ 1 ราย คือ เอไอเอส