posttoday

ค่าเงินบาทมี.ค.ผันผวนเพิ่ม

03 มีนาคม 2561

จับตาค่าเงินบาทเดือน มี.ค. มีสิทธิผันผวนขึ้น หลัง ก.พ.ที่ผ่านมาความผันผวนเพิ่ม 2 เท่าจากเดือน ม.ค. ลุ้น 3-4 ปัจจัยกระทบ

จับตาค่าเงินบาทเดือน มี.ค. มีสิทธิผันผวนขึ้น หลัง ก.พ.ที่ผ่านมาความผันผวนเพิ่ม 2 เท่าจากเดือน ม.ค. ลุ้น 3-4 ปัจจัยกระทบ

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมอัตราความผันผวนของค่าเงินบาทในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาอยู่ที่ 6-9% โดยช่วงต้นเดือนอยู่ที่ 6% จากนั้นความผันผวนสูงขึ้นไปเกือบ 9% ก่อนจะกลับมาอยู่ที่ 6% ในช่วงท้ายของเดือน

สำหรับความผันผวนนี้สูงกว่าถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. ซึ่งมีความผันผวนตลอดเดือน 3-5% เป็นระดับความผันผวนที่เพิ่มมาต่อเนื่องจากสิ้นปีที่ผ่านมา ดังนั้นเดือน มี.ค.นี้ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นค่าเงินบาทผันผวนมากกว่าเดือน ก.พ.ได้

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักๆ ที่มีผลต่อความผันผวนของค่าเงินบาทในเดือน มี.ค. มี 3-4 ปัจจัย ได้แก่ อัตราดอกเบี้ย ซึ่งในเดือนนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยจริงน่าจะทำให้เห็นภาพตลาดการเงินชัดเจนขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่อมาคือประเด็นการเลือกตั้งในอิตาลี ที่มีขึ้นในช่วงวันอาทิตย์ที่ 4 มี.ค.นี้ ซึ่งน่าจะส่งผลให้เงินยูโรอ่อนค่าลงและดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอีก ดังนั้นก็จะสร้างความผันผวนได้เพราะสวนทางกับกระแสหลักที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบกับเงินสกุลในเอเชียที่แข็งค่าขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยนโยบายต่างประเทศของ โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ออกมาเริ่มเห็นการกีดกันทางการค้ารายอุตสาหกรรมซึ่งข้อมูลก็ยังไม่ชัดเจนว่าใครที่โดนผลกระทบบ้าง ดังนั้นในช่วงสั้นจะสร้างความผันผวนให้ตลาดการเงินได้เล็กน้อย

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศออกมาเมื่อช่วงสิ้นเดือน ก.พ.นั้น ไม่ถือว่าผิดไปจากที่ตลาดคาดการณ์มากนัก

"ทิศทางหลักๆ ของค่าเงินบาทก็ยังเป็นในทางเงินบาทแข็งค่าอยู่เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีขึ้น เศรษฐกิจแข็งแกร่ง  การส่งออกก็เติบโตดี และเงินไหลเข้าสู่เอเชีย แต่ก็อาจจะมีปัจจัยอื่นๆ ได้ ที่มาทำให้สิ่งที่มองไว้กลับด้านอาจจะเห็น ความผันผวนสูงมาก เช่น ถ้าเศรษฐกิจ จีนเกิดมีปัญหาอาจจะจับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจจีนบ้าง รวมถึงจับตาเฟด เพราะทุกครั้งที่ขึ้นดอกเบี้ยก็จะส่งผลลบต่อตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้" นายจิติพล กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าสัปดาห์หน้าค่าเงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบแข็งค่าสุดที่ 31.20-31.25 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดที่ 31.75-31.80 บาท/ดอลลาร์