posttoday

ธปท.ลดอุ้มค่าเงินบาท ผ่อนผันมาตรการสกัดเก็งกำไร

21 กุมภาพันธ์ 2561

ธปท.ผ่อนมาตรการป้องกันเก็งกำไรค่าเงิน ในช่วงตลาดหุ้นเปลี่ยนเวลาส่งมอบชำระราคา แบงก์เผยเห็นสัญญาณ ธปท.ลดแทรกแซงค่าเงิน

ธปท.ผ่อนมาตรการป้องกันเก็งกำไรค่าเงิน ในช่วงตลาดหุ้นเปลี่ยนเวลาส่งมอบชำระราคา แบงก์เผยเห็นสัญญาณ ธปท.ลดแทรกแซงค่าเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศผ่อนผันหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทในช่วงนี้ที่กลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กำลังเปลี่ยนแปลงรอบระยะเวลาส่งมอบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ จากเดิมทีบวก 3 คือหลังวันซื้อขาย 3 วัน เหลือทีบวก 2 หรือหลังวันซื้อขาย 2 วัน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและลดข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงานวันที่เปลี่ยนแปลงระยะเวลาส่งมอบ

ทั้งนี้ ได้ผ่อนผันให้ผู้ที่ไม่ได้มีถิ่นพำนักในไทย (เอ็นอาร์) มียอดคงค้างในบัญชีผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ หรือเอ็นอาร์บีเอส ในสิ้นวันที่ 6 มี.ค. รวมกันทุกบัญชีที่เปิดกับสถาบันการเงินในประเทศเกินกว่าเกณฑ์กำหนดได้ โดยยอดคงค้างที่เกินต้องเกิดจากการได้รับเงินบาทจากการลงทุนในหุ้นไทยที่ครบกำหนดชำระในวันที่เปลี่ยนไปใช้การชำระราคา 2 วันถัดไป และให้ทำธุรกรรมซื้อเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาทที่มีกำหนดส่งมอบในวันรุ่งขึ้น หรือทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาทที่มีกำหนดส่งมอบวันเดียวกันในวันทำการถัดไปได้ โดยให้สถาบันการเงินผู้รับทำธุรกรรมเรียกและจัดเก็บเอกสารตามที่ ธปท. ร้องขอเพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลได้

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเห็นสัญญาณการเข้าดูแลค่าเงินบาทจาก ธปท. ลดลง โดยพิจารณาจากทุนสำรองระหว่าง ประเทศเปรียบเทียบกับดุลชำระเงิน ค่อนข้างใกล้เคียงกัน ต่างจากปี 2560 คาดว่ามีการเข้าดูแลประมาณ 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 2.2% ของจีดีพีในรูปดอลลาร์

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความเสี่ยงถูกสงครามกีดกันทางการค้าจากสหรัฐ เพราะเข้าหลายเกณฑ์ที่สหรัฐกำหนดว่าประเทศได้เอาเปรียบทางการค้ากับสหรัฐ ทั้งเกณฑ์แรกเกินดุลการค้าไม่ควรเกิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งไทยเกินดุล 2.03 หมื่นล้านดอลลาร์ เกณฑ์ที่สองเกินดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ควรเกิน 3% ซึ่งไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปีที่แล้ว 10.3% และเกณฑ์สุดท้ายแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนไม่ควรเกิน 2%

นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า ได้ปรับคาดการณ์เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบปีมาอยู่ที่ 30.80 บาท/ดอลลาร์ จากเดิมมอง 31.20 บาท/ดอลลาร์ โดยจะเห็นภายในกลางเดือน เม.ย.นี้ ผลจากการแทรกแซงน้อยลง ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปตามดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงจากความเชื่อมั่นสหรัฐลด แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ย แต่มีความกังวลภาระหนี้และการขาดดุลงบประมาณเข้ามาแทน ทำให้เงินไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรมากขึ้น และมีเงินไหลเข้าไทยจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ