posttoday

กรุงไทยปักธงชูรัฐไร้เงินสด เริ่มหักภาษี ณ ที่จ่ายส่งคลังอัตโนมัติ

19 กุมภาพันธ์ 2561

ธนาคารกรุงไทยพร้อมเป็นรายแรก เริ่มบริการหักภาษี ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมหนุนเงินส่งคลังผ่านอิเล็กทรอนิกส์ 27 มี.ค.นี้

ธนาคารกรุงไทยพร้อมเป็นรายแรก เริ่มบริการหักภาษี ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมหนุนเงินส่งคลังผ่านอิเล็กทรอนิกส์ 27 มี.ค.นี้

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการ ใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคาร กรุงไทยเป็นธนาคารแห่งแรกที่ให้บริการหักภาษี ณ ที่จ่าย และยื่นภาษีต่อกรมสรรพากรทุกเดือนแบบอัตโนมัติแบบไม่ใช้กระดาษ (เปเปอร์เลส) ซึ่งธนาคารกรุงไทยมีจุดแข็งเป็นเพียงธนาคารเดียวที่มีการเชื่อมต่อระบบของกรมสรรพากร ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐในการนำส่งเงินเข้าคลัง

ทั้งนี้ ธนาคารได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัทน้ำมัน 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท ปตท. บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) และบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี โดยกรุงไทยจะเป็นตัวแทนหักภาษี ณ ที่จ่าย และยื่นภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แทนเอกชน ในกรณีที่หน่วยงานรัฐที่ใช้บัตรเติมน้ำมันของธนาคาร ณ สถานีน้ำมันทั่วประเทศของบริษัทน้ำมันทั้ง 4 แห่ง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.เป็นต้นไป

สำหรับบริการดังกล่าวเป็นการต่อยอดบริการบัตรเติมน้ำมัน (ฟลีท การ์ด) กับหน่วยงานรัฐ ที่ใช้แทนเงินสด คูปอง หรือใบสั่งจ่ายน้ำมัน ซึ่งปกติแล้วเมื่อหน่วยงานรัฐที่เติมน้ำมันด้วยบัตรฟลีทการ์ด ทางบริษัทน้ำมันจะต้องทำเอกสารหักภาษี ณ ที่จ่าย 1% อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกรุงไทยจึงจะเป็นตัวแทนหักภาษี ณ ที่จ่าย 1% และนำส่งสรรพากรแบบอัตโนมัติผ่านระบบการหักภาษี ณ ที่จ่ายแบบอิเล็ก ทรอนิกส์ (KTB e-withholding Tax)

“หากหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่ใช้บัตรเติมน้ำมันของธนาคารกรุงไทย และต้องการแต่งตั้งธนาคารเป็นตัวแทนหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อใช้จ่ายผ่านบัตรดังกล่าวที่สถานีบริการน้ำมัน 4 แห่ง สามารถแจ้งความประสงค์มายังธนาคารผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อสมัครใช้บริการได้” นายผยง กล่าว

นายผยง กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายไร้เงินสด (แคชเลส โซไซตี้) ของรัฐบาล ธนาคารจึงจะปรับกระบวนการทั้งหมดที่ให้บริการแก่หน่วยงานรัฐ ทั้งที่เกี่ยวกับการรับ-จ่ายเงิน รวมถึงนำเงินส่งกระทรวงการคลังผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นระบบเคทีบี คอร์ปอเรต ออนไลน์ การชำระเงินผ่านเครื่องรับบัตร (อีดีซี) และบริการคิวอาร์โค้ด ภายในวันที่ 27 มี.ค.นี้

นอกจากนี้ ธนาคารมุ่งยกระดับนวัตกรรมด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริการอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีบริการออกใบอนุโมทนาบัตรแบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-โดเนชั่น) สำหรับการบริจาคเงินที่วัดด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดด้วยแอพพลิเคชั่น เคทีบี เน็ตแบงก์ รวมทั้งได้มีแอพพลิเคชั่น เป๋าตังค์ ที่เป็นโมบายแบงก์กิ้งสำหรับชำระเงินโดยเฉพาะ

สำหรับยุทธศาสตร์ธนาคารกรุงไทย 2561 ต้องการเดินหน้าเพื่ออนาคตของธนาคาร (Future Banking) ตั้ง 4 สายงานใหม่ในธีมกรุงไทยอินโนเวชั่น

ทั้งนี้ แบ่งเป็น ดาต้าอินโนเวชั่น ไอทีอินโนเวชั่น บิซิเนสอินโนเวชั่น และโปรเซส อินโนเวชั่น ภายใต้ดีเอ็นเอใหม่ ที่ชื่อว่า FAST ประกอบด้วย F-Fast  A-Assist S-Simple และ T-Trust โดยธนาคารได้ตั้งงบประมาณเพื่อลงทุนเปลี่ยนแพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานเป็นดิจิทัลจำนวน 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้