posttoday

คลังเร่งคุมเงินดิจิทัลสิ้นก.พ.นี้

19 กุมภาพันธ์ 2561

คลัง ก.ล.ต. ย้ำเตือนความเสี่ยงลงทุนเงินดิจิทัล เร่งออกกฎคุมคาดเสร็จเดือน ก.พ.นี้

คลัง ก.ล.ต. ย้ำเตือนความเสี่ยงลงทุนเงินดิจิทัล เร่งออกกฎคุมคาดเสร็จเดือน ก.พ.นี้

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยถึงแนวทางการออกกฎหมายควบคุมเงินดิจิทัล ว่า ปัจจุบันมีช่องทางกฎหมาย 3 ฉบับ ที่รัฐมนตรีคลังเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย คือ พ.ร.บ.ชำระเงิน และ พ.ร.บ.การกู้ยืมเงิน ผ่านการดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งหากต้องการแก้ไขต้องให้กระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

อย่งไรก็ตาม คลังต้องร่วมกับหลายหน่วยงานขับเคลื่อนแนวทางป้องกันไม่ให้นักลงทุนเกิดความเสียหายจากการระดมทุนด้วยสกุลเงินดิจิทัล (ไอซีโอ) ปัจจุบันมีคณะทำงานเพื่อสรุปหาแนวทางการกำกับดูแลการซื้อสกุลเงินดิจิทัล ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง  ธปท. ก.ล.ต. และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รับผิดชอบ โดยคาดว่าจะสรุปแนวทางการดูแลประชาชนภายในเดือน ก.พ. 2561 นี้

“ต้องการเตือนนักลงทุนหรือประชาชนว่าการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลยังไม่มีกฎหมายรองรับ หากเกิดความเสียหายไม่มีหน่วยงานไหนรับผิดชอบ ซึ่งหากต้องการลงทุนจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่ารู้จักบริษัทนั้นมากน้อยเพียงใด นำเงินไปใช้ลงทุนอะไร เพราะมีบทเรียนหลายประเทศเปิดเทรดเพียงไม่กี่นาทีราคาไหลรูดต่ำจนเสียหาย จากนั้นติดตามเงินคืนไม่ได้” นายพรชัย กล่าว

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ระหว่างที่รอการแก้ไขกฎหมายเพื่อมาควบคุมการซื้อขายเงินสกุลดิจิทัล อยากให้ผู้ลงทุนใช้วิจารณญาณให้ดี ดูว่าใครคือคนที่ทำสัญญาด้วย เงินลงทุนที่ได้ไปถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเรื่องอะไร และมีการเก็บข้อมูลการซื้อขายหรือไม่ เพื่อไม่ให้ได้รับความเสียหาย

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวเตือนว่า การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งไอซีโอและคริปโตเคอเรนซีจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจอย่างมาก เพราะการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้มีความเสี่ยง หากผู้ลงทุนไม่เข้าใจอย่างแท้จริงจะเสียหายได้โดยง่าย

นอกจากนี้ อาจมีผู้ฉวยโอกาสในการสร้างกระแสโดยนำโครงการที่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนมาเป็นจุดขาย หรือโครงการที่ไม่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจนเพื่อหลอกลวงประชาชนให้ลงทุน

ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีเกณฑ์กำกับดูแลการออกไอซีโอ ผู้ลงทุนจึงไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ แม้ว่ามีการกำกับออกมาก็คงจะลดความเสี่ยงได้เฉพาะบางส่วนเท่านั้น แต่ยังมีความเสี่ยงทางธุรกิจ ราคาผันผวน และความเสี่ยงจากโจรกรรมไซเบอร์ และที่สำคัญหากเกิดความเสียหายจะไม่สามารถเรียกร้องจากใครได้

ภาพ เอเอฟพี