posttoday

หน่วยงานกำกับ ตื่นรับฟินเทค

15 กุมภาพันธ์ 2561

ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีเข้ามา Disruption ทุกภาคส่วน หน่วยราชการที่ทำหน้าที่กำกับดูแลต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีเข้ามา Disruption ทุกภาคส่วนไม่เพียงภาคธุรกิจเอกชนเท่านั้นจะได้รับผลกระทบและต้องรับมือเท่านั้น แม้แต่หน่วยราชการที่ทำหน้าที่กำกับดูแลยังต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วย

สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเปิดตัว เอฟ13 พื้นที่สำหรับเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ซึ่งจัดโดยสมาคมฟินเทคประเทศไทยว่า กระทรวงการคลังเตรียมจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินแห่งชาติขึ้นมาภายในปีนี้  เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการกำกับดูแลพัฒนาเกี่ยวกับผู้ประกอบการฟินเทค ทั้งธนาคารพาณิชย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกันภัย เป็นต้น โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณจากกองทุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือกองทุน SFI รวม 500 ล้านบาทใน 2 ปี

ฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ประเด็นที่ ธปท.ให้ความสนใจมากเพื่อรองรับการมาของฟินเทคคือ การสร้างมาตรฐานที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ บริษัทผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร (นันแบงก์) และฟินเทคใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ เช่น การผลักดันพร้อมเพย์ ระบบการชำระเงินที่มีมาตรฐานกลางก็เป็นอย่างหนึ่ง และหลังจากนี้ก็จะมีเรื่องพื้นฐานการพิสูจน์ยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ตามมาเพื่อใช้ร่วมกัน

“การสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ใช้ร่วมกันนั้น ต้องเป็นระบบเปิดที่ไม่ได้จำกัดผู้ให้บริการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและเป็นระบบที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ นันแบงก์ ฟินเทคทำงานร่วมกันได้” ฤชุกร กล่าว

สำหรับอีกประเด็นที่ ธปท.จะให้ความสำคัญมากขึ้นคือ การยกระดับความเข้มข้นของมาตรฐานการป้องกันการโจมตีของอาชญากรทางไซเบอร์ (ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้) โดยปีนี้จะเน้นให้ผู้ที่อยู่ภายใต้กำกับของ ธปท.มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ที่มีพื้นฐานระบบป้องกันที่ตอบสนองได้ดีเรื่องการฟื้นฟูในกรณีที่ถูกกระทบจากการโจมตีทางไซเบอร์ไปแล้ว เพื่อที่หากนำฟินเทค มาใช้ตอบโจทย์ผู้บริโภคก็จะได้คุ้มครองดูแลได้มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ วันที่ 19-20 มี.ค.นี้ ธปท.จะจัดงานบางกอก ฟินเทค แฟร์ ที่ ธปท. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ ยอมรับฟินเทคไทย ให้ฟินเทคไทยประสบความสำเร็จมากขึ้น โดยมองว่าฟินเทคจะเข้ามาสร้างประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างการแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์ ช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ปรับตัวให้บริการตอบโจทย์ประชาชนที่เปลี่ยนไปมาก ทำให้คนเข้าถึงแหล่งเงินด้วยต้นทุนที่ต่ำลง

รพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ใน 3 ปีข้างหน้า เชื่อว่าเทคโนโลยีจะมาเปลี่ยนตลาดทุนไปอย่างสิ้นเชิง โดยฟินเทคไม่ได้เข้ามากระทบเพียงผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ในตลาด แต่ยังมากระทบหน่วยงานกำกับด้วย ซึ่งหน่วยงานกำกับจะต้องเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ จะทำเหมือนเป็นพ่อแม่ที่คุมลูกทุกอย่าง สั่งว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ ไม่ได้แล้ว แต่ต้องปรับตัวเป็นผู้ทำให้ข้อมูลเปิดเผยให้มากที่สุด ชัดเจนที่สุดไม่ถูกบิดเบือน เพื่อให้คนนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านกฎหมายนั้นก็เป็นอีกประเด็นท้าทาย เช่น การเสนอขายเหรียญดิจิทัลให้คนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอซีโอ) ที่ถูกพูดถึงอย่างมากตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ทำแล้วเป็นอย่างไร ใครที่ทำได้ ซึ่งตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมาย ก็ไม่มีใครรับรองได้กับการทำ สิ่งเหล่านี้ทำให้หน่วยงานกำกับต้องรีบตัดสินใจให้เร็วขึ้น จะใช้เวลาค่อยๆ คิดแบบแต่ก่อนไม่ได้อีกแล้ว เพราะไม่เหลือเวลา หากไม่รีบตัดสินใจ ทุกคนก็จะไม่ได้รับการปกป้องเท่าที่ควร ซึ่งหน่วยงานกำกับทุกประเทศก็กำลังเจอปัญหาแบบนี้พร้อมกัน

สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า เทคโนโลยีไม่ได้กระทบแค่ธุรกิจ แต่มีผลกับหน่วยงานกำกับด้วย ซึ่งกฎเกณฑ์ต่างๆ นั้นจะมาช้ากว่าเทคโนโลยีเสมอ หากไปเร่งออกกฎจนเกินไป พอถึงเวลาออกแล้วกฎนั้นก็อาจถูกเทคโนโลยีทำลายได้ดังนั้นมองว่าจะใช้วิธีออกประกาศเกณฑ์ เพราะประกาศสามารถปรับเปลี่ยนได้

นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับยุคนี้ต้องไปทำงานร่วมกันข้ามสายงานมากขึ้น ไม่ใช่แค่ทำงานกับหน่วยงานกำกับในภาคการเงินด้วยกันอย่าง ก.ล.ต. และ ธปท. แต่ต้องทำงานกับหน่วยงานกำกับในธุรกิจอื่นด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มธุรกิจที่เกิดการขยายข้ามธุรกิจมากขึ้น เช่น ธุรกิจมือถือก็มาขายประกัน ก็ต้องทำงานกับหน่วยงานกำกับธุรกิจนี้ เป็นต้น