posttoday

ครม.อนุมัติแล้ว! กฎหมายตั้งสถาบันการเงินประชาชนลดความเหลื่อมล้ำ

06 กุมภาพันธ์ 2561

ครม.สัญจร อนุมัติร่าง พ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน ชี้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เป็นการปฏิรูปการเงินระดับฐานรากครั้งสำคัญ

ครม.สัญจร อนุมัติร่าง พ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน ชี้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เป็นการปฏิรูปการเงินระดับฐานรากครั้งสำคัญ

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญในเรื่องการเงินระดับฐานราก อันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ลดจำนวนหนี้นอกระบบ และก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องมีสถาบันการเงินประชาชนอย่างน้อยตำบลละ 1-2 แห่ง หรือรวมแล้วประมาณ 3,500-7,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นราว 20-30 ล้านคนให้เข้าถึงบริการการเงินที่ดีขึ้นได้

"ยืนยันว่าการจัดตั้งสถาบันการเงินประชาชน จะไม่กระทบกับสถาบันการเงินเดิมที่มีอยู่ในชุมชน เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน หรืออื่นๆ ก็ยังมีอยู่ แต่การจะเปิดใหม่นั้นเป็นความสมัครใจ ถ้าอยากจะเข้าระบบก็จะมี ธกส. หรือออมสินเป็นพี่เลี้ยงให้ ซึ่งจะช่วยดูแลเรื่องการพัฒนาโปรแกรมทางด้านเงินฝาก สินเชื่อ การโอนเงิน โดยสถาบันใดที่เข้าเงื่อนไขและเข้าสู่ระบบแล้ว เราจะขึ้นป้ายการเป็นสถาบันการเงินประชาชนให้ภายใต้กฎหมายนี้" นายกอบศักดิ์ระบุ

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีดังนี้

1. กำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชน โดยมีหน้าที่เสนอแนะนโยบายและแนวทางในการพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชนต่อคณะรัฐมนตรี กำกับดูแล ตรวจสอบ และส่งเสริมสถาบันการเงินประชาชนให้เป็นไปตามร่างพระราชบัญญัตินี้ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดตั้ง การจดทะเบียน การดำเนินการ การเพิกถอน การพ้นสภาพ รวมถึงประเภทหรือลักษณะของสถาบันการเงินประชาชน ออกระเบียบกำหนดคุณสมบัติของสมาชิก พิจารณาให้ความเห็นชอบคำขอการจดทะเบียน ยกเลิกและเพิกถอนการเป็นสถาบันการเงินประชาชนตามข้อเสนอแนะของธนาคารผู้ประสานงาน กำหนดกรอบอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และผลตอบแทนของสถาบันการเงินประชาชน และรายงานผลการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีและสาธารณชนทราบ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 

2. กำหนดให้มีธนาคารผู้ประสานงาน โดยมีหน้าที่สนับสนุน ช่วยเหลือ และแนะนำการจัดตั้งสถาบันการเงินประชาชน รับคำขอจัดตั้ง เลิก หรือเพิกถอนจากสถาบันการเงินประชาชนเพื่อนำเสนอคณะกรรมการ จัดทำและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการให้บริการทางการเงิน ระบบการโอนเงิน ระบบบัญชี หรือระบบอื่นใดที่จำเป็น พัฒนาศักยภาพและความพร้อม ทั้งในด้านระบบการเงิน การบัญชี และการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรให้บริการทางการเงินแก่สถาบันการเงินประชาชน เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างสถาบันการเงินประชาชน จัดทำระบบข้อมูล รวมถึงข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของสมาชิก และติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวกับสถาบันการเงินประชาชน

3. กำหนดให้สถาบันการเงินประชาชน จัดตั้งขึ้นเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชนและจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคล และต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการให้บริการทางด้านการเงินระดับชุมชนแก่สมาชิก ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชนประกาศกำหนด

4. กำหนดให้มีคณะกรรมการสถาบันการเงินประชาชน โดยมีอำนาจหน้าที่บริหารสถาบันการเงินประชาชน รวมทั้งตรวจสอบ กำกับ ดูแล และจัดสรรดอกผล รายได้ หรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของสถาบันการเงินประชาชน รวมถึงการจัดทำบัญชีของสถาบันการเงินประชาชน ออกประกาศ ระเบียบ หรือข้อบังคับ เกี่ยวกับการบริหารสถาบันการเงินประชาชน รับสมาชิกและจัดทำทะเบียนสมาชิก ทำนิติกรรม สัญญา หรือดำเนินการเกี่ยวกับภาระผูกพันของสถาบันการเงินประชาชน ติดตามและประเมินผลการดำเนินการของสถาบันการเงินประชาชน และปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชนกำหนดหรือมอบหมาย

5. กำหนดให้ทุนหรือทรัพย์สินของสถาบันการเงินประชาชน ประกอบด้วย เงินที่สมาชิกนำมาลงหุ้นหรือฝากไว้กับสถาบันการเงินประชาชน เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่สถาบันการเงินประชาชนได้รับบริจาคโดยปราศจากเงื่อนไขหรือข้อผูกพันใด ๆ และดอกผล รายได้ หรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของสถาบันการเงินประชาชน

6. กำหนดให้สถาบันการเงินประชาชนมีอำนาจหน้าที่ให้บริการการเงินระดับชุมชนกับสมาชิก กระทำการใด ๆ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิต สวัสดิภาพ และสวัสดิการของสมาชิกและประชาชนในชุมชน และปฏิบัติงานอื่นใด เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสถาบันการเงินประชาชนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

7. กำหนดให้ภายใน 150 วันนับจากวันสิ้นปีให้สถาบันการเงินประชาชนจัดทำงบแสดงฐานะการเงิน เปิดเผย งบแสดงฐานะการเงินและรายงานผลการดำเนินการประจำปีต่อสมาชิกและสาธารณชน รวมทั้งจัดส่งให้กับผู้ตรวจสอบ

8. กำหนดให้ผู้อนุมัติให้สถาบันการเงินประชาชน ดำเนินการหรืองดเว้นการดำเนินการหรือเป็นผู้ดำเนินการ หรือรับผิดชอบในการดำเนินการนั้น ได้กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกและปรับ