posttoday

แห่ยื่นภาษีเพิ่มล้านราย

06 กุมภาพันธ์ 2561

สรรพากรคาดปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทำให้มีผู้ยื่นเสียภาษีปี 2560 เพิ่มขึ้น 1 ล้านราย

สรรพากรคาดปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทำให้มีผู้ยื่นเสียภาษีปี 2560 เพิ่มขึ้น 1 ล้านราย

นางศิริวัลย์ แก้วมูลเนียม รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมประเมินว่ายอดผู้ยื่นแบบภาษีชำระภาษีบุคคลธรรมดาในปีงบประมาณ 2560 ที่เริ่มเปิดให้ยื่นตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึงต้นเดือน เม.ย.นี้ จะมีประมาณ 11-12 ล้านราย สูงกว่าปีก่อนประมาณ 1 ล้านราย เนื่องจากมีการใช้โครงสร้างภาษีใหม่ทำให้มีผู้มายื่นภาษีเพิ่มขึ้น

ขณะที่ยอดการคืนภาษีที่ชำระเกินในปีนี้ กรมสรรพากรคาดว่าจะมีผู้ได้รับภาษีคืนเพิ่มขึ้น 25% จาก 3 ล้านรายเมื่อปีก่อน เพิ่มเป็น 4 ล้านรายในปีนี้ เนื่องจากโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาใหม่ทำให้สามารถหักลดหย่อนได้มากขึ้น อีกทั้งคณะรัฐมนตรียังมีมาตรการลดภาษีเพิ่ม เช่น หักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนได้ 1.5 หมื่นบาท มาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว โครงการช็อปช่วยชาติ 1.5 หมื่นบาท ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซ่อมแซมมาหักลดหย่อนได้

"การเปิดยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า ปัจจุบันยังมีผู้ยื่นแบบภาษีค่อนข้างน้อยกว่าที่คาด เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่อยู่ระหว่างรอใบรับรองประกันชีวิต ที่ได้รับสิทธิในการหักลดหย่อนภาษีเพิ่ม โดยในสัปดาห์นี้คาดจะมีผู้ยื่นภาษีประมาณ 1 ล้านราย ซึ่งสรรพากรคาดว่าจากมาตรการหักลดหย่อนภาษีต่างๆ ของรัฐบาลที่ออกมานั้นจะทำให้กรมสูญรายได้บ้าง" นางศิริวัลย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การคืนภาษีที่เพิ่มขึ้นจะกระทบต่อรายได้ของกรมสรรพากรบ้าง แต่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศมากกว่า หลังจากนี้กรมสรรพากรจะหาแนวทางเพื่อให้มีรายได้เข้ามาทดแทน โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี รวมถึงการออกกฎหมายเพิ่มการจัดเก็บภาษีชนิดอื่นๆ เช่น การจัดเก็บภาษีการขายสินค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนรอบที่ 3

ทั้งนี้ กรมสรรพากรตั้งเป้าหมายการจัดเก็บภาษี 1.92 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.79 ล้านล้านบาท แต่ประเมินว่าการจัดเก็บจริงทำได้ 1.86 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 5.8 หมื่นล้านบาท ส่วนการคืนภาษีคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1.4 หมื่นล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.18 แสนล้านบาท และภาษีอื่นอีก 8.21 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังได้ลงนามความร่วมมือให้บริการใช้เครื่องอีดีซีในการรับชำระภาษีกับธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงไทย รวมเกือบ 3,000 เครื่อง ที่สำนักงานสรรพากรทั่วประเทศ จะเริ่มใช้เครื่องดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.นี้ เป็นต้นไป