posttoday

'ธปท.'ห่วงหนี้เสียบ้านพุ่ง

31 มกราคม 2561

แบงก์ชาติไม่สบายใจสินเชื่อบ้านเอ็นพีแอลสูงสุดของรายย่อย แต่มั่นใจไม่ใช่สัญญาณซับไพรม์

แบงก์ชาติไม่สบายใจสินเชื่อบ้านเอ็นพีแอลสูงสุดของรายย่อย แต่มั่นใจไม่ใช่สัญญาณซับไพรม์

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยในงานสัมมนาอสังหาริมทรัพย์ ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจ ปี 2018 ว่าขณะนี้มีความเป็นห่วง แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เริ่มเห็นสัญญาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นสูงสุดในบรรดาสินเชื่อรายย่อยในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2560 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 3.26% ทั้งนี้สินเชื่อบ้านเป็นสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและมีความปลอดภัยมากที่สุด เมื่อกลายเป็นเอ็นพีแอลระดับสูงจึงไม่สบายใจ ต้องรอดูตัวเลขไตรมาส 4 อีกครั้ง แต่ สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบการยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก

ทั้งนี้ การผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยมาจากปัญหาความสามารถ ในการชำระหนี้ของผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก มั่นใจว่าไม่ใช่สัญญาณการเกิดปัญหาซับไพรม์เหมือนในสหรัฐ เพราะการคิดดอกเบี้ยและกำหนดงวดผ่อนชำระแตกต่างกัน ส่วนปัญหาฟองสบู่จากการเก็งกำไรเกิดขึ้นเพียงจุดเล็กๆ ในคอนโดตามแนวรถไฟฟ้าไม่กระทบ ทั้งระบบ

"ธปท.กำลังสังเกตการเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ของต่างชาติทั้งซื้อ เอง หรือมีนอมินี โดยเฉพาะการซื้อ คอนโดที่เห็นมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการอาจต้องระวังเรื่องการทิ้งใบจองด้วย" นายดอน กล่าว

ทั้งนี้ จากรายงานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุด มองว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยคงผ่อนคลายต่อไปอีกระยะ แม้ดอกเบี้ยโลกอยู่ในช่วงขาขึ้นชัดเจนและเศรษฐกิจไทยเติบโตดี โดย ณ ปัจจุบัน ผู้ประกอบการและผู้กู้บ้านสบายใจได้

ขณะเดียวกันมีโอกาสที่ ธปท. จะปรับประมาณการเศรษฐกิจในปี 2561 ขึ้นจากที่ประเมินจีดีพีเติบโต 3.9% และการส่งออกเติบโตมากกว่า 4%

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงของภาคอสังหา ริมทรัพย์ คือ กำลังซื้อชะลอตัว โดยปัญหาเศรษฐกิจไทยปัญหาไม่ใช่ฟื้นตัว แต่มาจากการไม่กระจายตัว อย่างไรก็ตามคาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะ ดีขึ้น และมีอัตราปฏิเสธสินเชื่อลดลง อีกทั้งธนาคารเริ่มผ่อนคลายเกณฑ์ลง ระดับสต๊อกบ้านเริ่มนิ่ง ส่วนดอกเบี้ย ขาขึ้นมีผลบ้างที่กดดันกำลังซื้อของ ผู้กู้ และกดดันต้นทุนผู้ประกอบการ เพิ่มเติมด้วยราคาที่ดินปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งค่าแรงที่เพิ่งปรับขึ้นทำให้ต้นทุนก่อสร้างสูงขึ้น โดยทั้งปีประเมินว่าอสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 5-6%

นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขา ธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่องจากต่ำสุด 0.9% มาถึงในช่วง 9 เดือน ของปี 2560 ขยายตัว 3.8% และทั้งปี 2560 คาดจะโต 3.9% และในปี 2561 คาดว่าจะเติบโต 4.1%