posttoday

ไทยพาณิชย์ตื่นตัวกฎหมายใหม่ สุดล้ำ...เล็งนำ AI ใช้งานในปีนี้

29 มกราคม 2561

ธนาคารไทยพาณิชย์ในยุค 4.0 นอกเหนือจากปรับองค์กรให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้ในงานด้านกฎหมาย

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

ธนาคารไทยพาณิชย์ในยุค 4.0 นอกเหนือจากการปรับองค์กรและพนักงานให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงแล้ว ฝ่ายกฎหมายก็มีความตื่นตัวอย่างมาก ในการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้ในงานด้านกฎหมาย

วัลลยา แก้วรุ่งเรือง รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดด้านกฎหมายและควบคุม ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence :AI) มาใช้ในงานตรวจสอบเอกสารสัญญาภาษาอังกฤษ โดยได้ร่วมมือกับบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส หาสตาร์ทอัพที่เชี่ยวชาญด้าน AI มาพัฒนาเรื่องดังกล่าวด้วยกัน คาดว่าจะเริ่มนำร่องใช้ภายในปีนี้

ทั้งนี้ เป้าหมายแรก คือ ต้องการทดสอบว่า AI สามารถตรวจสอบเอกสารสัญญาภาษาอังกฤษได้แม่นยำมากน้อยเพียงใด ซึ่งมองไปถึงอนาคตว่า หากพัฒนาได้สมบูรณ์แบบ จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรนักกฎหมายของธนาคารที่มีความสามารถภาษาอังกฤษ ไม่ต้องใช้เวลาตรวจสอบเอกสาร เพื่อให้นักกฎหมายกลุ่มนี้ได้ทำงานเฉพาะทาง (Specialist) ที่ถนัด

วัลลยา กล่าวว่า ธนาคารได้เตรียมพร้อมนักกฎหมายให้มีความรู้ด้านกฎหมายดิจิทัลและกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของธนาคาร เพราะงานด้านกฎหมายเป็นส่วนสำคัญมากในการดำเนินธุรกิจ เมื่อปรับเปลี่ยนนักกฎหมายก็ต้องก้าวตามให้ทัน ปัจจุบัน ธนาคารไทยพาณิชย์มีทีมนักกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมธนาคาร โดยมีทั้งสิ้น 270 คน

เมื่อปี 2560 ธนาคารได้ตั้งทีมนักกฎหมายดิจิทัลเป็นการเฉพาะ โดยมีอยู่ราว 6-7 คน เพื่อให้ทีมดังกล่าวคอยติดตามกฎหมายดิจิทัลและกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งทีมกฎหมายดิจิทัลนี้ ทำงานร่วมกับทีมกฎหมายวิชาการที่จะเผยแพร่ความรู้เรื่องกฎหมายใหม่ๆ หรือความเคลื่อนไหว ให้พนักงานภายในธนาคารได้รับทราบเพื่อปรับตัวได้ทัน

ขณะที่แนวทางการสร้างคนในด้านกฎหมายดิจิทัลของธนาคาร มี 2ส่วน คือ 1.การดึงนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายดิจิทัลมาร่วมงานด้วยกัน และ 2.ให้ทุนการศึกษาแก่นิสิตนักศึกษาไปเรียนต่อเฉพาะด้านกฎหมายดิจิทัล ซึ่งเป็นการต่อยอดเพิ่มเติม จากปัจจุบันธนาคารมีนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เช่น ทีมกฎหมายตลาดทุน ทีมกฎหมายต่างประเทศ ทีมกฎหมายภาษี

“เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อระบบธนาคาร มีกฎหมายใหม่ๆ ขึ้นมา นักกฎหมายของเราต้องเรียนรู้ให้เร็ว โดยส่วนตัวมีนโยบายให้ลองยื่นคำฟ้องศาลแบบอิเล็กทรอนิกส์ทุกขั้นตอนในคดีความที่ทุนทรัพย์ไม่สูง เพื่อหาจุดอ่อนว่ามีปัญหาหรือไม่ และปัญหาที่พบนั้นคืออะไร”วัลลยา กล่าว

ไทยพาณิชย์ตื่นตัวกฎหมายใหม่ สุดล้ำ...เล็งนำ AI ใช้งานในปีนี้ วัลลยา แก้วรุ่งเรือง รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดด้านกฎหมายและควบคุม ธนาคารไทยพาณิชย์

สำหรับกฎหมายที่ธนาคารกำลังติดตามมี 4 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ธุกรรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการประกอบธุรกิจด้วยเทคโนโลยีทางการเงิน หรือร่างกฎหมายฟินเทค

ในกรณีร่างกฎหมายฟินเทคที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นของคณะกรรมาธิการ ธนาคารได้เข้าไปมีส่วนร่วมให้ข้อมูลระหว่างรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้กฎหมายที่ออกมามีการใช้ได้จริง ไม่ขัดกับภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะในเรื่องข้อมูลที่กำหนดว่า การเก็บ ใช้ และเปิดเผย ข้อมูลต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้า ซึ่งข้อมูลเข้ามาใหม่ทำได้ แต่มีข้อสงสัยว่า ฐานข้อมูลเดิมจะทำอย่างไร

ขณะที่ พ.ร.บ.ธุกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มีหลายประเด็นที่ออกมาเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะหนังสืออิเล็กทรอนิกส์และการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งระบุว่าการยืนยันตัวตนด้วยรหัสผ่าน โอทีพี หรือไบโอเมตริกซ์ ทำธุรกรรมบนสมาร์ทโฟน ถือเป็นการลงนามด้วยตัวเอง แก้ข้อพิพาทกรณีการทำธุรกรรมบนสมาร์ทโฟนที่ไม่มีหลักฐานเป็นเอกสาร

นอกจากนี้ ธนาคารศึกษากฎหมายของต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกฎหมายของประเทศจีน เนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการพัฒนาไปอย่างมากในเรื่องของดิจิทัล อีกทั้งจำนวนประชากรที่มหาศาล ทำให้น่าสนใจว่า การดำเนินการด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลทำได้อย่างไร รวมถึงการไปดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะระบบการดำเนินงานกฎหมายมีความน่าสนใจ

วัลลยา กล่าวว่า มาร์เก็ตคอนดักต์ นับเป็นหลักเกณฑ์ใหม่ที่อยู่ในภายใต้กฎหมายสถาบันการเงินเดิม สิ่งสำคัญที่สุดที่ธนาคารต้องยึดถือ คือ การรักษาความลับของลูกค้า (ดาต้า ไพรเวซี) ให้สิทธิลูกค้าไม่รับข้อมูลข่าวสารจากธนาคาร โดย อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จะเป็นผู้นำในการกำกับดูแลมาร์เก็ตคอนดักต์ด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตาม กฎหมายหลายฉบับที่ธนาคารต้องปฏิบัติตามเพิ่มขึ้น ไม่กระทบกับผู้บริโภคหรือลูกค้าธนาคารเลย ตรงกันข้ามลูกค้าจะได้รับความคุ้มครองมากกว่าเดิม ผลที่เกิดอยู่กับธนาคารที่ทำงานยากขึ้น ต้องปรับตัวและยึดแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกฉบับ ภายใต้การกำกับดูแลของทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย