posttoday

เจาะลึกสินเชื่อ "รายใหญ่" ครองตลาด

25 มกราคม 2561

เมื่อภาวะสินเชื่อโดยรวมถูกขับเคลื่อนด้วยธนาคารพาณิชย์และผู้กู้ไม่กี่ราย จึงสะท้อนความต้องการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่กี่ราย

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

การลงทุนภาคเอกชนเป็นหนึ่งในความหวังกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต แต่ที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนยังต่ำ จึงเกิดคำถามว่าเพราะธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อหรือเอกชนไม่ลงทุนเอง

ณชา อนันต์โชติกุล หัวหน้ากลุ่ม งานวิจัยด้านนโยบายการเงิน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ วรดา ลิ้มเจริญรัตน์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธปท. ทำวิจัยเรื่อง “เจาะลึกสินเชื่อไทย...สำคัญแค่ไหนต่อการลงทุน” โดยใช้ข้อมูลละเอียดของสินเชื่อภายใน ธปท. มาวิจัยจึงแยกผลกระทบต่อการลงทุนได้ชัดเจนขึ้น

ข้อมูลที่ใช้คือสินเชื่อรายสัญญาที่แต่ละบริษัทกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง เน้นสินเชื่อรายใหญ่วงเงินกู้มากกว่า 20 ล้านบาท เป็นข้อมูลปี 2547-2557 ใช้วิธีเศรษฐมิติแยกแยะ ผลวิจัยพบว่าตลาดสินเชื่อไทยกระจุกตัวสูงมากทั้งในมุมธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยกู้และผู้กู้ที่ได้สินเชื่อ

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ 5 แห่ง ครองส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อถึง 70% ของปริมาณการปล่อยสินเชื่อทั้งระบบ ฝั่งผู้กู้ พบว่าผู้กู้รายใหญ่ที่สุด 10% แรกของผู้กู้ทั้งหมดในกลุ่มตัวอย่างที่มีวงเงินกู้มากกว่า 20 ล้านบาท ครองส่วนแบ่งสินเชื่อถึง 70% ของสินเชื่อทั้งระบบ โดยบริษัทส่วนใหญ่จะกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์รายเดียว

นอกจากนั้น พบว่าพฤติกรรมปล่อยสินเชื่อของธนาคารแต่ละแห่งมีวัฏจักรแตกต่างกัน แต่ข้อสังเกตที่พบคือพัฒนาการสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยกับสาขาธนาคารต่างประเทศต่างกัน ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก สาขาธนาคารต่างประเทศลดการปล่อยสินเชื่อชัดเจน เพราะได้รับผล กระทบจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ แต่ธนาคารพาณิชย์ไทยยังปล่อยสินเชื่อต่อเนื่อง ส่วนระยะหลังธนาคารพาณิชย์ไทยเริ่มชะลอปล่อยกู้ แต่สาขาธนาคารต่างประเทศกลับมีบทบาทมากขึ้นเพิ่มปริมาณสินเชื่อให้ลูกหนี้ ซึ่งภาวะเช่นนี้เป็นเรื่องดี เพราะช่วยชดเชยกันได้ ทำให้สินเชื่อรวมไม่เหวี่ยงมาก

ณชา กล่าวว่า เมื่อภาวะสินเชื่อโดยรวมที่ทุกคนเห็นถูกขับเคลื่อนด้วยธนาคารพาณิชย์และผู้กู้ไม่กี่ราย จึงสะท้อนความต้องการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่กี่รายเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการรายเล็กเผชิญข้อจำกัดด้านการเข้าถึงสินเชื่อ และมีโอกาสได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจมากกว่า เช่น ถ้าธนาคารปรับมาตรการปล่อยสินเชื่อเข้มงวดขึ้น จะกระทบบริษัทรายเล็กสูงกว่า ทำให้ไม่สามารถขยายการลงทุนได้ ต่างจากบริษัทใหญ่อันดับแรกๆ ที่ไม่กระทบนัก

นอกจากนั้น การกระจุกตัวของสินเชื่อทำให้การลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่อาจสะท้อนความเสี่ยงเชิงระบบ หากผู้เล่นรายใหญ่ได้รับผลกระทบบางอย่างก็จะเกิดปัญหาได้มากกับเศรษฐกิจ

ณชา กล่าวอีกว่า ข้อมูลสินเชื่อรวมและการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมที่เห็น อาจไม่สะท้อนภาวะของผู้ประกอบการรายเล็ก ดังนั้นหากจะมองภาวะสินเชื่อและการลงทุนภาคเอกชนควรมองแยกด้วยเกณฑ์หลายแบบ เช่น แบ่งตามภาคอุตสาหกรรม แบ่งตามระยะเวลาของสินเชื่อ จึงจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น

ปิติ ดิษยทัต ​ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธปท. กล่าวว่า สิ่งที่ได้จากงานวิจัยนี้คือ เวลาเห็นภาพรวมสินเชื่อ การลงทุนเปลี่ยนไป จะเหมาว่าสะท้อนภาวะทั้งประเทศไม่ได้ จริงๆ แล้วอาจเป็นผลจากบริษัทใหญ่รายเดียวมีปัญหาเฉพาะแล้วกระทบภาพรวม จึงต้องระวังในการวิเคราะห์ ซึ่งสถาบันวิจัยทำเรื่องนี้ก็เพื่อสะท้อนให้ผู้ดำเนินนโยบายให้ความสำคัญ คำนึงถึงประเด็นความแตกต่างเหล่านี้เพื่อประเมินภาวะการเงิน ผลกระทบนโยบายและมาตรการต่างๆ ต่อผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจด้วย

แท้จริงแล้วข้อมูลรวมออกมาว่าลงทุนเอกชนชะลอตัว ก็อาจจะบอกสังคมได้ว่ารายใหญ่ไม่ค่อยลงทุน ส่วนรายย่อยอาจจะลงทุนอยู่ก็ได้ หรือลงทุนขยายตัว ก็อาจขยายตัวแค่รายใหญ่ ส่วนรายย่อยไม่ขยายก็ได้เช่นกัน