posttoday

กรุงไทยอ่วมแบกเอ็นพีแอลหนักอึ้ง

24 มกราคม 2561

โจทย์ยากกรุงไทยท้าทายลดเอ็นพีแอลต่ำ 4% เจอเกณฑ์จัดชั้นใหม่ IFRS9 กดดันหนี้ตกชั้นเพิ่ม

โจทย์ยากกรุงไทยท้าทายลดเอ็นพีแอลต่ำ 4% เจอเกณฑ์จัดชั้นใหม่ IFRS9 กดดันหนี้ตกชั้นเพิ่ม

นายผยง ศรีวณิช กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ปีนี้จะมุ่งบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เข้มข้นขึ้น แต่ยอมรับว่ายากมากที่จะกดเอ็นพีแอลให้ต่ำกว่า 4% ได้จากสิ้นปี 2560 เอ็นพีแอล อยู่ที่ 4.19% เพราะมาตรฐานทางบัญชีไอเอฟอาร์เอส9 (IFRS9) ที่กำหนดนิยามการเป็นหนี้เอ็นพีแอลเปลี่ยนจากการผิดนัด 90 วัน มาเป็นตามโอกาสที่จะเป็นหนี้เสีย (Possible Impaired Loan) ที่ทำให้หนี้บางส่วนตกชั้นไปเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ธนาคารทยอยจัดชั้นไปเรียบร้อยแล้ว

ด้านปริมาณเอ็นพีแอลที่เพิ่มสูงทะลุ 1 แสนล้านบาทนั้น เป็นเอ็นพีแอลจากงบการเงิน แต่หากนับเฉพาะงบธนาคาร ปริมาณเอ็นพีแอลอยู่ที่ 9.86 หมื่นล้านบาท ยังอยู่ในเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งเอ็นพีแอลที่พุ่งขึ้นมาในปี 2560 มาจากบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท รวมกับเอ็นพีแอลในกลุ่มโรงสีข้าวและมันสำปะหลัง

นอกจากนี้ หวังว่าปัญหาคุณภาพหนี้จะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว หากจะมีเพิ่มก็คงมาจากสินเชื่อเก่าที่ปล่อยไปนานแล้ว ส่วนสินเชื่อปล่อยใหม่มั่นใจในคุณภาพจากอัตราเป็นหนี้เสียน้อยมาก โดยธนาคารยังต้องเฝ้าระวังสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และสินเชื่อรายย่อยเช่นเดิม

อย่างไรก็ดี เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นทำให้การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ เพิ่มขึ้นกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท เพื่อรักษาระดับของอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Rtio) อยู่ที่ 121.71% โดยในไตรมาส 4 ได้เริ่มทยอยสำรองเพิ่มเติมเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับ IFRS9 แต่ปีนี้จะตั้งเพิ่มจาก IFRS9 อีกเท่าใด ต้องรอความชัดเจนการบังคับใช้ของธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนที่จะมีผลในปี 2562

นายผยง กล่าวว่า กำไรสุทธิ ปี 2560  ที่ลดลง 30% เพราะมีการจัดระเบียบมีการปรับพอร์ตให้สมดุลในด้านความเสี่ยงและรายได้ พร้อมขยายการเติบโตใน สินเชื่อประเภทใหม่ๆ ขณะเดียวกันสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ดี จากการลดต้นทุนการเงินลงได้ เงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันเติบโตได้ดี เอ็นพีแอลจากสินเชื่อใหม่ต่ำมาก ขณะเดียวกันมีแรงกดดันจากรายได้ดอกเบี้ยที่ชะลอตัว โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี(เอ็มอาร์อาร์) ที่ปรับลดลงตามการขอความร่วมมือของรัฐบาล ซึ่งธนาคารลดดอกเบี้ยมากกว่าตลาด 0.25% ต่ำกว่าธนาคารอื่นจึงถูกผลกระทบ 2 ชั้น