posttoday

จับสัญญาณธปท.คงดอกเบี้ยยาว

19 มกราคม 2561

นักวิเคราะห์ชี้จดหมายเปิดผนึกธปท.ถึงคลัง ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยต่ำหนุนเศรษฐกิจ

นักวิเคราะห์ชี้จดหมายเปิดผนึกธปท.ถึงคลัง ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยต่ำหนุนเศรษฐกิจ

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า จดหมายเปิดผนึกของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงรมว.คลัง อธิบายเหตุผลที่เงินเฟ้อที่หลุดกรอบเป็นเรื่องราคาหรือปัจจัยด้านอุปทาน ไม่ได้มาจากความร้อนแรงจากภาวะเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันเงินเฟ้อต่ำไม่ใช่สัญญาณเงินฝืด เพราะเศรษฐกิจยังเติบโตได้ และไม่ได้เป็นเงินฝืดเพราะเศรษฐกิจยังเติบโต 4% สะท้อนภาพให้เห็นว่า ธปท.ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ธปท. ระบุว่า เงินเฟ้อปีนี้จะขยับเข้ากรอบและพร้อมจะคงดอกเบี้ยที่อยู่เกือบต่ำสุดเกือบเป็นประวัติการณ์เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัว เป็นการส่งสัญญาณชัดเป็นครั้งแรกว่า ธปท.จะใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำต่อไป คลายความกังวลในเรื่องต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น อย่างน้อยก็ครึ่งแรกของปีนี้

อย่างไรก็ดี ไม่อยากให้ตีความว่า หากเงินเฟ้อปรับขึ้นไปอยู่ในกรอบแล้ว ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ย ส่วนตัวเห็นว่า แม้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 1-4% ก็ไม่จำเป็นที่ธปท.ต้องขึ้นดอกเบี้ย ตราบใดที่สาเหตุเงินเฟ้อยังมาจากอุปทานทั้ง ราคาสินค้าและค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้ต้นทุนสินค้าขยับขึ้น ส่วนที่ต้องติดตาม คือ ด้านอุปสงค์หรือความต้องการใช้จ่ายของผู้บริโภค หากไม่เร่งตัวแรง ก็น่าจะเห็นการคงดอกเบี้ย 1.5% อยู่

นอกจากนี้ ต้องดูความร้อนแรงเศรษฐกิจไทยว่าจะเร่งขึ้นเหนือ 4% หรือไม่ หรือมีปัจจัยต่างจากที่ผ่านมา ไม่ใช่เพียงการส่งออก แต่การฟื้นตัวเริ่มมาถึงความรู้สึกของประชาชนผ่านการบริโภคในประเทศและการลงทุน หากเศรษฐกิจภายในแข็งแกร่งและกระจายตัว น่าเป็นโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยได้ ที่ต้องจับตาในครึ่งปีหลัง

"อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลา จึงยังคงประมาณการว่า กนง.จะคงดอกเบี้ย 1.5% ถึงสิ้นปี" นายอมรเทพ กล่าว

นายอมรเทพ กล่าวว่า เชื่อว่าธปท.มีกระสุนพอในการลดดอกเบี้ยหากเกิดวิกฤตขึ้น โดยดอกเบี้ยสามารถลดต่ำลงได้ต่ำกว่า 1.25% และสามารถใช้ควบคู่เครื่องมืออื่นไม่ว่าจะเป็นผ่านสถาบันการเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยน ส่วนการคงดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานเป็นความเสี่ยงที่ ธปท. ตระหนักเป็นอย่างดี แต่ในภาพรวมขณะนี้ยังไม่เห็นความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่ ทั้งในตลาดหุ้นหรือราคาบ้าน โดยพฤติกรรมที่คนวิ่งหาผลตอบแทนสูงจากดอกเบี้ยต่ำเห็นเพิ่มมากขึ้น มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ รวมทั้งทุกฝ่ายดูแลความเสี่ยงกันอยู่

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวอยากเห็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจน เมื่อถึงเวลาที่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง ไม่ว่าจะมาจากค่าแรงหรือเศรษฐกิจเร่งตัว โจทย์ คือ ธปท.จะขยับขึ้นแบบใด จะเหมือนสหรัฐคือทยอยปรับขึ้น หรือจะรีบเร่งปรับขึ้นเพื่อเก็บกระสุนเมื่อเกิด Behind the Curve รวมทั้งปัจจัยที่ ธปท. ให้ความสำคัญกับการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย เงินเฟ้อ หรือเศรษฐกิจ อยากให้ส่งสัญญาณชัดเจน