posttoday

จับตา 4 ความเสี่ยง เขย่าเสถียรภาพการเงินไทย

15 มกราคม 2561

ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย ต้องจับตาความเสี่ยง 4 ด้าน

ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย ต้องจับตาความเสี่ยง 4 ด้าน

ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย 2560 โดยรวมมีเสถียรภาพดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยง 4 ด้านที่อาจสร้างความเปราะบางต่อระบบการเงินไทยในระยะข้างหน้า

สำหรับ 4 ความเสี่ยง ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าอาจมีนัยต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยในระยะข้างหน้า ประกอบด้วย

1.ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ด้อยลงต่อเนื่อง และมีสัดส่วนมูลค่าหนี้สินที่มีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ (Debt at risk) อยู่ในระดับสูง เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยกระจายตัวไม่ทั่วถึงทุกภาคส่วน โดยเฉพาะฐานะการเงินของธุรกิจเอสเอ็มอี ในสาขาพาณิชย์ การผลิต บริการ อสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง ซึ่งยังมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้การทำธุรกิจในรูปแบบเดิมไม่สามารถแข่งขันได้

2.ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่ม โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อยที่ยังมีความเปราะบางและมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ ความสามารถในการรองรับความเสี่ยงของครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยมีแนวโน้มลดลง สะท้อนจากสัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ทางการเงินของภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยยังไม่ได้ปรับดีขึ้นชัดเจน

3.อุปทานคงค้างโดยเฉพาะในอาคารชุดบางพื้นที่ รวมทั้งตลาดอาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกที่อาจได้รับผลกระทบจากการเร่งลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (Mixed-use) ซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานคงค้างเร่งตัวขึ้นได้ในระยะต่อไปหากอุปสงค์ไม่ได้ขยายตัวสอดคล้องกัน ที่ยังต้องติดตามความเสี่ยง

4.พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for yield) ภายใต้ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยยังต้องติดตามความเสี่ยงจากการกระจุกตัวจากการลงทุนในกองทุนรวมประเภทที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund : FIF) ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงขึ้น

ส่วนกองทุนรวมประเภทที่มีการกำหนดอายุโครงการ (Term Fund) มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากกรณีผิดนัดชำระหนี้ในหุ้นกู้ที่ไม่มีเครดิตเรตติ้งส่งผลให้มีขนาดลดลงมาก และมีการออก Term Fund เพื่อผู้ลงทุนทั่วไปที่เน้นลงทุนในต่างประเทศมารองรับแทน หากพิจารณากองทุนรวมทั้งระบบพบว่า การลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝากมีการกระจุกตัวในบางประเทศ ซึ่งความเสี่ยงจากการกระจุกตัวดังกล่าว อาจสะสมจนมีนัยเชิงระบบได้ในอนาคต

ธุรกิจประกันชีวิตมีแนวโน้มขยายการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพด้อยลงในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัยมีการลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนเพิ่มเติมเช่นเดียวกับธุรกิจประกันชีวิต

ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีการขยายตัวต่อเนื่องและมีความเชื่อมโยงกับระบบการเงินโดยรวมมากขึ้นเพราะมีการนำสภาพคล่องส่วนเกินไปแสวงหาผลตอบแทนเพิ่มเติมด้วยการลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน มีการเริ่มสะสมความเสี่ยงมากขึ้นจากพฤติกรรมการช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการให้เงินกู้ใหม่เพื่อชำระหนี้เดิม การประเมินความเสี่ยงของลูกหนี้ที่ต่ำเกินควร และส่วนใหญ่ไม่ทราบภาระหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้เนื่องจากไม่ได้เป็นสมาชิกเครดิตบูโร รวมถึงต้นทุนการระดมทุนของธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ในระดับต่ำ (Underpricing of risk) ซึ่งอาจไม่สะท้อนค่าความเสี่ยงที่แท้จริง