posttoday

แบงก์ล้อมคอก เข้มเปิดบัญชีใหม่

10 มกราคม 2561

ประธานสมาคมแบงก์แจงช่องโหว่สมาร์ทการ์ดรีดเดอร์ ไม่มีข้อมูลบัตรเก่า-บัตรใหม่ สั่งปรับขั้นตอนเปิดบัญชีเข้มขึ้น

ประธานสมาคมแบงก์แจงช่องโหว่สมาร์ทการ์ดรีดเดอร์ ไม่มีข้อมูลบัตรเก่า-บัตรใหม่ สั่งปรับขั้นตอนเปิดบัญชีเข้มขึ้น

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ทุกวันนี้มิจฉาชีพที่พยายามหาวิธีการฉ้อโกงผ่านการเปิดบัญชีเพื่อรับโอนเงินจากเหยื่อ ซึ่งธนาคารพยายามป้องกันทุกช่องทาง โดยเฉพาะการรับจ้างเปิดบัญชี ซึ่งธนาคารพาณิชย์มีภารกิจตรวจสอบตัวตนตามกฎเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นเป็นการพยายามปลอมตัวตน โดยใช้บัตรประชาชนของผู้อื่น ซึ่โดยหลักการแล้ว เครื่องอ่านบัตรประชาชน (Smart Card Reader) เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบหลักฐานว่าถูกต้องหรือไม่ แต่เครื่องดังกล่าวให้เพียงข้อมูลส่วนตัวพื้นฐานเท่านั้น ไม่ได้บอกว่า เป็นบัตรประชาชนเก่า หรือบัตรประชาชนใหม่ หรือบัตรดังกล่าวถูกยกเลิกหรือยัง เนื่องจากระบบยังไม่เชื่อมโยงข้อมูลจากกรมการปกครองอย่างสมบูรณ์

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่า รู้สึกประหลาดใจที่คนร้ายสามารถหลอกเปิดบัญชีได้ถึง 7 ธนาคาร ซึ่งหากหลอกลวงสำเร็จแค่ 2-3 แห่งก็ยังพอคาดเดาได้ว่าเป็นความบกพร่องของบุคลากรธนาคารคนใดคนหนึ่ง แต่เมื่อมีการใช้วิธีเดิมเปิดบัญชีกับธนาคารถึง 7 ธนาคาร อาจเพราะคนร้ายละเอียดมาก ซึ่งจะตรวจสอบเชิงลึกว่าเกิดจากสาเหตุใด

“กรณีที่ผู้เสียหายจะฟ้องร้องหรือเรียกร้องความรับผิดชอบจาก 7 ธนาคาร ที่เปิดบัญชี เราจะพิจารณาไปตามกระบวนการ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นทราบว่า ผู้เสียหายยังไม่ได้รับความเสียหายทางการเงินแต่อย่างใด ส่วนธนาคารก็ได้แจ้งความดำเนินคดีคนร้ายแล้วเช่นกันก็ถือเป็นหนึ่งในผู้เสียหาย” นายปรีดี กล่าว

นายปรีดี กล่าวว่า ได้เพิ่มมาตรการความปลอดภัยในการเปิดบัญชีธนาคาร ที่มีขั้นตอนที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งอาจทำให้ความสะดวกสบายในการใช้บริการลดลง โดยประชาชนที่จะเปิดบัญชีต้องเตรียมเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วน และธนาคารอาจใช้เวลาตรวจสอบเอกสาร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ธนาคารต้องขอให้เปิดหน้า ถอดผ้าปิดปาก อาจสำรวจใบหน้าผู้เปิดบัญชีนานไปบ้างเพื่อดูว่าหน้าตรงกับบัตรประชาชนหรือไม่

ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวจะหมดไปหากระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการพิสูจน์ตัวตนของประเทศ หรือ เนชั่นแนล ดิจิทัล ไอดี แล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะภายในปีนี้ โดยขณะนี้ภาครัฐ อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงดีอี กำลังร่วมกับภาคเอกชน เช่น ธนาคาร และองค์กรธุรกิจที่ต้องพิสูจน์ตัวตนลูกค้า ช่วยกันวางโครงสร้าง อยู่ระหว่างการกำหนดสเปก ระบบอยู่ หากแล้วเสร็จ จะทำให้การพิสูจน์ตัวตนแม่นยำ เชื่อถือได้ ไม่ว่าใช้รูปแบบตรวจสอบแบบใด เช่น ไบโอเมตริก ก็จะเป็นหนึ่งในวิธีการพิสูจน์