posttoday

เตือน...รับมือสภาพคล่องฝืด

09 มกราคม 2561

ความผันผวนของตลาดการเงินโลกนับเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปี 2561

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

ความผันผวนของตลาดการเงินโลกนับเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ซึ่งมาจากประเด็นการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางที่เข้มงวดขึ้น หลังจากเศรษฐกิจของแต่ละประเทศฟื้นตัวอย่างชัดเจน

พูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ต้องติดตามสภาพคล่องที่จะหายอย่างฉับพลันในช่วงครึ่งปีหลังราวๆ เดือน ก.ย.-ต.ค. จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงินสหภาพยุโรป (อีซีบี) เป็นผู้นำในการเลิกซื้อสินทรัพย์หรือลดคิวอี เพื่อดูดซับสภาพคล่องออกไปจากระบบให้เข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากเห็นภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัว

นอกจากนี้ โลกจะเข้าสู่ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างแท้จริง สิ่งที่ตามมาคือต้นทุนการกู้เงินดอลลาร์สหรัฐจะปรับขึ้นตามดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับขึ้นล่วงหน้าไปแล้ว ส่วนไทยอัตราผลตอบแทนพันธบัตระยะ 10 ปี มีแนวโน้มปรับขึ้นเฉลี่ย 0.1-0.15% ต่อปี โดยคาดว่าสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 3.1% จากแรงขายบอนด์อายุยาวก่อน

ส่วนค่าเงินบาทยังไม่น่ามีผลกระทบจากสภาพคล่องตึงตัว เพราะความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทขึ้นอยู่กับความต้องการเงินบาทเป็นหลัก โดยความต้องการเงินบาทมาจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่มีสัดส่วนกว่า 50% ส่วนเงินไหลเข้าออกในตลาดพันธบัตรมีสัดส่วนต่อค่าเงินเพียง 13%

“ปี 2561 เราคาดว่าส่งออกยังโตต่อและเงินลงทุนต่างชาติจะไหลเข้าในตลาดหุ้นไทยจากเศรษฐกิจเราดี บริษัทจดทะเบียนกำไรดี ดังนั้น เรามองเทรนด์บาทแข็งต่อปีนี้แต่ไม่แข็งเท่าปี 2560 โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3 อาจมีเงินไหลเข้ามาเก็งกำไร ก่อนการเลือกตั้งในไตรมาส 4 ให้กรอบการเคลื่อนไหวเงินบาท 32-33 บาท/ดอลลาร์”พูน กล่าว

นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า หากธนาคารกลางญี่ปุ่นและอีซีบีลดคิวอีพร้อมกันกระทบสภาพคล่องไทยด้วย เพราะธนาคารพาณิชย์ไทยกู้เงินดอลลาร์จากธนาคารญี่ปุ่นมากที่สุด ขณะเดียวกันสภาพคล่องมีแนวโน้มตึงตัวจากส่วนต่างดอกเบี้ยของสหรัฐกับดอกเบี้ยไทย หากดอกเบี้ยสหรัฐปรับขึ้นไปเป็น 2.25% ในสิ้นปี ส่วนไทยคงที่ 1.5% เงินจะไหลออกอย่างแน่นอน

“จริงอยู่ที่ดอกเบี้ยไทยไม่จำเป็นต้องวิ่งตามโลกตลอดเวลา แต่หากห่างกันเกินไปถึง 0.5% ขึ้นไป จะมีผลข้างเคียง เช่น บริษัทไทยที่ไปลงทุนต่างชาติจะกู้เงินเป็นสกุลบาทแทน และอาจเห็นการนำเงินออมไทยไปซื้อสินทรัพย์หรือลงทุนยังต่างชาติ ยิ่งเพิ่มปัญหาสภาพคล่องตึงตัวจากดอกเบี้ยถ่างมากขึ้น” นริศ กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ไปสู่ระดับ 2% ในปีนี้ โดยจะเริ่มปรับขึ้นในครึ่งปีหลัง หลังจากเห็นเงินเฟ้อเริ่มแตะเป้าหมายที่เป็นการเปิดทางให้ปรับดอกเบี้ยสู่ระดับที่เหมาะสม เพราะตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้าน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ไต้หวัน ดอกเบี้ยสูงกว่าไทย จึงควรจะเป็นปีที่เริ่มเก็บกระสุนรองรับความไม่แน่นอน

พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มเงินบาทแข็งต่อเนื่องโดยให้กรอบที่ 32-33 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเชื่อว่าภาคธุรกิจเห็นสัญญาณแล้ว และมีการปรับตัวมากขึ้นไม่น่ากระทบส่งออก แต่เป็นห่วงความสามารถแข่งขันกับประเทศที่ขายสินค้าประเภทเดียวกับไทย เช่น เวียดนาม เงินบาทแข็งกว่าเงินด่อง 10% ผู้ประกอบการไทยต้องปรับกลยุทธ์รองรับ

อย่างไรก็ดี เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องจากดุลบัญชีสะพัดเกินดุลสูง โดยปีนี้คาดว่าเกินดุลไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยนโยบายการเงินที่ใช้ได้นอกเหนือจากการเข้าซื้อล่วงหน้าแล้ว อาจจะต้องผลักดันให้เอกชนลงทุนต่างประเทศให้มากขึ้น