posttoday

ฟินเทคเปลี่ยนโลก "บล็อกเชน-เงินดิจิทัล" มาแรง

28 ธันวาคม 2560

ปี 2560 กระแสของฟินเทคยังคงร้อนแรง โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล และกระแสนี้จะยังคงแรงต่อเนื่องข้ามไปในปี 2561

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์, นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์

ปรากฏการณ์ดิจิทัลเปลี่ยนโลก ยังคงปฏิวัติเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่องและรุนแรง โดยในปี 2560 กระแสของฟินเทคยังคงร้อนแรง โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล (คริปโต เคอเรนซี) ที่มีการเปิดให้มีการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าได้ ทำให้บิตคอยน์ซึ่งเป็นหนึ่งในสกุลเงินดิจิทัลได้รับความนิยมจากนักเก็งกำไรดันให้ราคาซื้อขายพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ และกระแสนี้จะยังคงแรงต่อเนื่องข้ามไปในปี 2561 ที่กำลังจะมาถึงด้วย

นวัตกรรมการเงินใหม่ในปีหน้าที่จะมาแรงแซงโค้งทุกเรื่อง คือ “บล็อกเชน”  โดยฟอร์บส์รายงานว่า นอกเหนือจากนำไปใช้ในบริการทางการเงินแล้ว ภาคธุรกิจพยายามศึกษานำบล็อกเชนไปใช้ในด้านอื่นๆ ในวงกว้างยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการซัพพลายเชน หรือบริการสุขภาพ

ขณะที่ภาครัฐจะมีการยอมรับและนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้อย่างเป็นรูปเป็นร่างมากกว่าเดิม ซึ่ง เจอร์รี คัวโม รองประธานฝ่ายเทคโนโลยีบล็อกเชนของบริษัท ไอบีเอ็ม เปิดเผยว่า ในปี 2018 ธนาคารกลางในหลายประเทศทั่วโลกจะเริ่มนำระบบบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้กับการทำธุรกรรมด้วยเงินดิจิทัล ซึ่งอ้างอิงมูลค่ามาจากเงินกระดาษ โดยการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้การทำธุรกรรมข้ามประเทศกับธนาคารพาณิชย์เป็นไปได้เร็วและสะดวกยิ่งขึ้น

แม้การออกเงินดิจิทัลจะไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากประเด็นดังกล่าวมีการพูดถึงมาระยะหนึ่งแล้ว แต่จากความนิยมอันร้อนแรงของเงินคริปโตและความพยายามไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของหลายประเทศ จิม แองเกิลตัน ประธานบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เอจิส ฟินเซิร์ฟ คอร์ป ในสหรัฐ เปิดเผยกับฟอร์บส์ว่า ในปี 2018 ประเทศเพิ่มอีกกว่า 20 แห่ง จะเริ่มการทดสอบระบบและการออกเงินดิจิทัลขั้นแรก เพิ่มขึ้นจากราว 108 ประเทศ ตลอดช่วงที่ผ่านมา เพื่อหวังลดการพึ่งพาเงินกระดาษ

ขณะเดียวกัน ระบบการทำงานของบล็อกเชนนำไปสู่การผลักดันนวัตกรรมการเงินขึ้นมาอีกอย่าง คือ สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ซึ่งเป็นโค้ดโปรแกรมเขียนขึ้นโดยมีรูปแบบเดียวกับสัญญาธุรกิจ เพื่อช่วยในการแลกเปลี่ยนเงิน สินทรัพย์ หรือหุ้น โดยเมื่อนำโค้ดสัญญาอัจฉริยะไปฝังไว้ในระบบบล็อกเชนจะทำให้การทำธุรกรรมต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ตรวจสอบได้ และไม่ต้องผ่านคนกลาง

ทั้งนี้ สัญญาอัจฉริยะจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความนิยมเงินคริปโต ท่ามกลางราคาบิตคอยน์ที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและผันผวนตลอดปีที่ผ่านมา จนสร้างความวิตกเกี่ยวกับภาวะฟองสบู่ โดยซีเอ็นบีซีรายงานว่า อีเธอเรียมและเงินคริปโตอื่นๆ ที่รองรับสัญญาอัจฉริยะ คาดว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคต และอาจมาแทนที่บิตคอยน์ซึ่งยังไม่มีระบบสัญญาอัจฉริยะ เนื่องจากสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ นอกเหนือจากใช้เป็นเงินคริปโตเพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน ขณะที่โปรแกรมเมอร์จำนวนมากกำลังหาทางใส่โค้ดสัญญาอัจฉริยะเข้าไปในระบบธุรกรรมของบิตคอยน์

สำหรับประเทศไทย นวัตกรรมการเงินใหม่ก็จะเกาะไปกับกระแสโลกเช่นกัน โกศล ทรัพย์ประเสริฐ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ยูนิคอร์น ออน เซ็น ผู้ดำเนินธุรกิจฟินเทค ชื่อ  “ฟินสตรีท”  มองว่า ในปี 2561 น่าจะได้เห็นฟินเทคด้านที่เกี่ยวข้องกับเงินตรา (เคอเรนซี) มากขึ้น ทั้งเรื่องเงินสกุลดิจิทัล หรือการออกเหรียญดิจิทัลเสนอขายให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (อินนิเชียล คอยน์ ออฟเฟอริ่ง - ไอซีโอ) จะเข้ามามีบทบาทมากกว่าเดิม

ทั้งนี้ เพราะคนจะตื่นตัวให้ความสำคัญจับตาดูนวัตกรรมด้านนี้ ส่วนหนึ่งเพราะหวังผลที่จะเกิดขึ้นด้านการลงทุน โดยมองว่าอาจทำให้มีช่องทางลงทุนมากขึ้นสำหรับคนรวย

โกศล เชื่อว่า ปี 2561 จะเป็นช่วงเวลาที่เงินที่อยู่บนออนไลน์พยายามวิ่งมาสู่ออฟไลน์ คือ พยายามเปลี่ยนปลายทางของเงินสกุลดิจิทัลมาเป็นเงินปกติที่ใช้จ่ายบนโลกจริง เพราะที่ผ่านมาเงินสกุลดิจิทัลส่วนใหญ่ไม่ได้นำมาใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจริง เช่น จะเกิดความพยายามทำไอซีโอออกมา แล้วก็วิ่งมาเสนอขายนักลงทุนไทยมากขึ้น เชื่อว่าปรากฏการณ์นี้จะเป็นตัวเขย่าวงการฟินเทคในไทย

นอกเหนือจากฟินเทคเกี่ยวกับเคอเรนซีที่น่าจะมาแรงในไทยปีหน้าแล้ว อีกกลุ่มฟินเทคที่คาดว่าจะมาแรงตามมา คือ การระดมทุนผ่านมวลชน (คราวด์ฟันดิ้ง) และการให้กู้ยืมระหว่างกลุ่มบุคคลกับบุคคล โดยไม่มีธนาคารเป็นตัวกลาง (เพียร์ ทู เพียร์ เลนดิ้ง) ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนให้เกิดมากขึ้น

ภาพ เอเอฟพี