posttoday

ชงบ้านคนจนเข้าครม.

19 ธันวาคม 2560

คลังเล็งเสนอโครงการบ้านคนไทยขายคนจนเข้า ครม. นำร่องใช้ที่ราชพัสดุ 8 จังหวัด 2,600 ยูนิต ราคาต่อหลังไม่เกิน 3.5-4.5 แสน

คลังเล็งเสนอโครงการบ้านคนไทยขายคนจนเข้า ครม. นำร่องใช้ที่ราชพัสดุ 8 จังหวัด 2,600 ยูนิต ราคาต่อหลังไม่เกิน 3.5-4.5 แสน

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ภายในเดือน ม.ค. 2561 กรมธนารักษ์จะเสนอโครงการบ้านคนไทย เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในหลักการคือช่วยเหลือให้คนไทยที่มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ในราคาต่อยูนิตไม่เกิน 3.5-4.5 แสนบาท มีภาระผ่อนชำระไม่เกิน 2,000 บาท/เดือน เตรียมทำโครงการนำร่อง 2,600 ยูนิต ครอบคลุมพื้นที่ใน 8 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี เป็นต้น โดยกลุ่มเป้าหมายแรกที่ต้องการจะช่วยคือ ประชาชนที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน จะได้สิทธิก่อน

ทั้งนี้ หลังจากที่ ครม.เห็นชอบ กรมธนารักษ์จะเร่งออกเงื่อนไขการประมูลเอกชนให้มาร่วมโครงการให้ได้ในช่วงต้นปี และจะให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด แต่จะต้องเป็นของที่ราคาถูกและมีคุณภาพตามมาตรฐาน โดยรูปแบบของบ้านจะมีทั้งบ้านแถวและอาคารสูง ให้ใช้พื้นที่ราชพัสดุในลักษณะเช่าเซ้งยาว 30 ปี และต่อสัญญาเมื่อครบกำหนด อยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง มีพื้นที่ใช้สอยขั้นต่ำ 28 ตารางเมตร/ยูนิต และคำนวณกำไรที่เอกชนจะได้รับที่ไม่เกิน 15-20% ซึ่งถือว่าต่ำเพราะราคาบ้านไม่แพง ดังนั้น รัฐบาลก็จะต้องมีมาตรการจูงใจให้เอกชนมาร่วมโครงการ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้

"บ้านคนไทย คือโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐเดิม แต่เปลี่ยนชื่อเพราะต้องการให้โครงการมีความน่าอยู่ โดยเมื่อโครงการออกมา ก็จะมาพร้อมกับแพ็กเกจสินเชื่อของธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ด้วย ส่วนรายละเอียดโครงการเป็นอย่างไร จะต้องรอเสนอเข้า ครม.เห็นชอบก่อน" นายพชร กล่าว

นายพชร กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เสนอโครงการให้กระทรวงการคลังพิจารณาในเบื้องต้นแล้ว แต่นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ได้สั่งให้กลับไปทบทวนรายละเอียดโครงการให้มีความรัดกุมมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่มีความอ่อนไหว เพื่อไม่ให้เกิดกรณีโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐในบางพื้นที่ที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ แล้วมีปัญหากับชุมชนใกล้เคียง จนต้องยกเลิกโครงการออกไป

แหล่งข่าวจาก ธอส. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมายอดปล่อยกู้โครงการบ้านประชารัฐอยู่ที่ระดับกว่า 9,000 ล้านบาท ซึ่งผลจากปรับปรุงเงื่อนไขเรื่องบ้านหลังแรกและปลดล็อกเรื่องนำราคาประเมินที่ดินมาพิจารณา ทำให้ธนาคารสามารถปล่อยกู้ได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อโครงการบ้านประชารัฐไว้ที่ 7 หมื่นล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 2 ปี ให้กู้ไม่เกินรายละ 1.5 ล้านบาท/หน่วย