posttoday

ตลาดป่วน!บาทแข็งหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย

14 ธันวาคม 2560

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ บาทแข็งทั้งที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย เป็นเรื่องไม่ปกติ บ่งบอกตลาดเงินเข้าสู่ New Normal

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ บาทแข็งทั้งที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย เป็นเรื่องไม่ปกติ บ่งบอกตลาดเงินเข้าสู่ New Normal

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ เฟดขึ้นดอกเบี้ย แต่เงินบาทแข็งค่า ว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FOMC ปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น 25 bps สู่ระดับ 1.25-1.50% ตามที่ตลาดคาด ซึ่งเป็นการปรับดอกเบี้ยขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้ แต่แทบทุกครั้งหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับอ่อนค่าเทียบสกุลอื่น รวมทั้งบาท ซึ่งทำให้เงินบาทแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เกือบ 10% จากปลายปีก่อน ซึ่งถือว่าไม่ปกติ แต่เราก็อยู่ในสภาวะ New Normal หลังเฟดอัดฉีด QE มาอยู่แล้ว ทั้งนี้ หากเทียบสกุลเงินอื่นแล้ว เงินบาทอาจไม่ได้แตกต่างกันมากนักกับเงินวอนของเกาหลีใต้หรือริงกิตของมาเลเซีย และก็สะท้อนภาพการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค

ทั้งนี้ นักลงทุนขายดอลลาร์ปัจจุบันด้วยราคาในอนาคต ซึ่งเชื่อว่านักลงทุนให้น้ำหนักว่า เฟดไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยแรง เพราะไม่จำเป็นต้องสกัดเงินเฟ้อ เพราะนอกจากเฟดยังคงมุมมองเดิมว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งปีหน้าแล้ว เฟดยังคงมุมมองเงินเฟ้อในปีหน้าและปีถัดๆ ไปว่ายังอยู่ในระดับไม่เกิน 2% ซึ่งเป็นระดับเป้าหมาย และไม่ได้กังวลว่าอัตราการว่างงานที่ลดลงมากกว่าคาดในครั้งก่อนจะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากการที่บริษัทอาจต้องเพิ่มค่าแรงเพื่อดึงดูดคนงาน หรือ wage inflation

นอกจากนี้ อาจมีนักลงทุนอีกมากที่ไม่เชื่อว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งจริงๆ เพราะเงินเฟ้อยังต่ำ ซึ่งได้ช่วยให้นักลงทุนคลายกังวล และกลับมาให้น้ำหนักนโยบายการคลังแทน ซึ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นหลังสว. ริพับลิกันแพ้การเลือกตั้งซ่อม ทำให้เสียงข้างมากที่มีอยู่เหลือน้อยมาก และมีความเสี่ยงว่าอาจไม่สามารถผ่านกฎหมายสำคัญๆ เช่น แผนปฎิรูปภาษีได้ ด้วยสถานการณ์ดังนี้ทำให้นักลงทุนเลือกที่จะไปแสวงหาผลตอบแทนในตลาดอื่นนอกจากถือสินทรัพย์ในรูปดอลลาร์สหรัฐ เพราะราคาหรือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอาจลดลงอีกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม มองว่านักลงทุนควรจับตา 2 ปัจจัยในปีหน้า ที่พร้อมมีแรงกดดันให้เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น 1. FOMC จะเปลี่ยนตัวสมาชิกออกจำนวนมาก ทั้งเยลเลนเองที่จะพ้นวาระประธานเฟด ซึ่งอาจมีส่วนทำให้มุมมองด้านตัวเลขเศรษฐกิจและทิศทางดอกเบี้ยของเฟดในเดือนมีนาคมปีหน้าเปลี่ยนได้ และ 2. เงินเฟ้อมีท่าทีเร่งขึ้นภายหลังการจ้างงานตึงตัว ผมห่วงว่าเฟดจะ behind the curve คือขึ้นดอกเบี้ยไม่ทัน แล้วจำเป็นต้องรีบทีหลังจนกระทบเศรษฐกิจได้ อย่าลืมว่าเวลาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น การที่จะฉุดเงินเฟ้อลงนั้นยาก เพราะคนมักคาดการณ์ราคาอนาคตว่าจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก

สำหรับมุมมองเงินบาทและดอกเบี้ยไทยปี 2561 ในส่วนดอกเบี้ยไทยนั้น เราไม่คิดว่าจะต้องรีบขึ้น ไม่มีข้อกำหนดว่าผลตอบแทนสินทรัพย์เสี่ยงอย่างเงินบาทต้องอยู่สูงกว่าผลตอบแทนสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งเงินเฟ้อของไทยยังต่ำ เศรษฐกิจไทยแม้ขยายตัวดีขึ้น แต่ก็ต่ำกว่าศักยภาพ และเติบโตยังไม่ทั่วถึง เราคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยได้ตลอดทั้งปีที่ 1.50% แต่อาจมีแรงกดดันให้ต้องขึ้นดอกเบี้ยบ้างในช่วงครึ่งหลังของปีหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเต็มที่

ด้านค่าเงินบาท เรายังคาดว่าบาทจะอ่อนค่าเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า เงินจะไหลออกจากนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และนโยบายลดภาษีของทรัมป์ การที่เงินบาทระยะนี้แข็งค่าเป็นเพียงชั่วคราว จากความไม่มั่นใจนโยบายลดภาษีของทรัมป์ เป็นสำคัญ อีกทั้งจะมีปัจจัยบวกจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูง ซึ่งทำให้บาทแข็ง แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราเกินดุลมานานแล้ว แต่ปีหน้าการเกินดุลน่าจะลดลงจากการนำเข้ามากขึ้นหากราคาน้ำมันสูงขึ้นและเกิดการลงทุนที่ต้องนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบจริง เรามองทิศทางค่าเงินบาทปี 2561 อ่อนค่าที่ระดับ 34 จากปลายปีนี้ที่คาดว่าจะยืนอยู่ที่ระดับ 32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ